บทคัดย่องานวิจัย

คุณภาพของเมล็ดและลักษณะต้นกล้าถั่วเขียวผิวมันและถั่วเขียวผิวดำหลังจากควบคุมเชื้อ Macrophomina phaseolina โดยใช้ผงพืชสมุนไพร

วินิดา สำราญรัมย์

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เกษตรศาสตร์ (สาขาวิชาพืชไร่) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 122 หน้า

2544

บทคัดย่อ

คุณภาพของเมล็ดและลักษณะต้นกล้าถั่วเขียวผิวมันและถั่วเขียวผิวดำหลังจากควบคุมเชื้อ macrophomina phaseolina โดยใช้ผงพืชสมุนไพร เมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวสองชนิดคือ ถั่วเขียวผิวมันและผิวดำ มีปัญหาการงอกและการเจริญเติบโตของต้นอ่อน โดยมีสาเหตุของการติดเชื้อรามากับเมล็ดพันธุ์ คือเชื้อรา Macrophomina phaseolina ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดโรคเน่าดำในต้นอ่อน และทำให้เล็ดเน่าตายในระหว่างการงอก งานทดลองนี้ เป็นการทดลองโดยใช้ผงพืชสมุนไพรคลุกเมล็ด เพื่อควบคุมเชื้อราดังกล่าว โดยใช้ถั่วเขียวผิวมัน 6 สายพันธุ์ ได้แก่ กำแพงแสน 1(KPS 1) กำแพงแสน 2 (KPS 2) ชัยนาท 36 (CN 36) ชัยนาท 60 (CN 60) ชัยนาท 72 (CN 72) และ อู่ทอง 1 (UT 1) และถั่วเขียวผิวดำ 2 สายพันธุ์ คืออู่ทอง 2 (UT 2) และพิษณุโลก 2 (PT 2) ผงพืชสมุนไพร 10 ชนิด ได้แก่ กระเทียม กระชาย กระเพรา ขิงข่า ขมิ้น ดีปลี ตะไคร้ สะเดา และหอมหัวใหญ่ เตรียมผงพืชสมุนไพรโดยวิธีอบลดความชื้น แล้วบดเป็นผง คลุกกับเมล็ดพันธุที่ได้ผ่านการคลุกเชื้อ โดยมีอัตราส่วนของผงพืชสมุนไพรคือ 10, 20, 30 และ 40 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1,000 เมล็ด ทดสอบประสิทธิภาพของผงพืชสมุนไพร และทดสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์โดยตรวจสอบความงอกมาตรฐาน และความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์ ผลการทดลองพบว่า ประสิทธิภาพของผงพืชสมุนไพรหลังการตรวจสอบกับเชื้อรา M. phaseolina 3 วัน ผงขมิ้นและผงดีปลี ความเข้มข้น 40 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1,000 เมล็ด มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อราสูงสุด 82 เปอร์เซ็นต์ และ 72 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ สำหรับคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว หลังจากการควบคุมเชื้อราโดยผงพืชสมุนไพร พบว่า ถั่วเขียวผิวดำพันธุ์ PT 2 มีความงอกและความแข็งแรงสูงสุด ในขณะที่ถั่วเขียวผิวมันพันธุ์ Cn 36 มีความงอกและความแข็งแรงต่ำสุด ในขณะที่การใช้ผงพืชสมุนไพรทุกชนิดและทุกอัตรามีผลต่อการควบคุมเชื้อรา M.phaseolinaในถั่วเขียวทั้ง 8 สายพันธุ์ ได้ระดับหนึ่งตั้งแต่ 6 เปอร์เซ็นต์ถึง 82 เปอร์เซ็นต์