บทคัดย่องานวิจัย

การขนส่งอ้อยจากแหล่งเพาะปลูกไปยังโรงงานน้ำตาล ในภาคตะวันตกและภาคตะวันออกของประเทศไทย

นิตยา สุนิรันดร์

วิทยานิพนธ์ เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 151 หน้า.

2522

บทคัดย่อ

การขนส่งอ้อยจากแหล่งเพาะปลูกไปยังโรงงานน้ำตาล ในภาคตะวันตกและภาคตะวันออกของประเทศไทย ในฤดูหีบอ้อย ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงประมาณเดือนพฤษภาคมปีต่อไป การขนส่งอ้อยส่งโรงงานน้ำตาล เป็นเรื่องยุ่งยากทั้งในด้านการจัดลำดับการขนส่ง การจัดหารถมาบรรทุกอ้อย และปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณโรงงานน้ำตาล วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงมุ่งที่จะศึกษาถึงวิธีการและขั้นตอนการขนส่งอ้อยโดยละเอียด โดยวิเคราะห์ถึงระบบการดำเนินงาน ตลอดจนรายได้และค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ การศึกษาเป็นแบบบรรยายผสมผสานกับการใช้สมการถดถอยอย่างง่าย รวมทั้งการคำนวณต้นทุนของการขนส่ง ซึ่งข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาส่วนใหญ่ได้จากการสัมภาษณ์ชาวไร่อ้อย หัวหน้าโควตา เจ้าหน้าที่โรงงานน้ำตาลและคนขับรถบรรทุกอ้อย ในระหว่างเดือนธันวาคม 2519 ถึงเดือนพฤษภาคม 2520 วิธีการขนส่งอ้อยมีเงื่อนไขสืบเนื่องมาจากระบบการตลาดของอ้อยที่จะต้องขายอ้อยผ่านคนกลางคือหัวหน้าโควต้า โดยเป็นผู้ทำสัญญาขายอ้อยล่วงหน้ากับโรงงานน้ำตาล จึงเป็นผู้ได้รับสิทธิในการขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน ชาวไร่รายเล็กที่ปลูกอ้อยไม่เพียงพอที่จะทำสัญญาขายกับโรงงานโดยตรงก็จะต้องขายผ่าน หัวหน้าโควตา นอกจากจะเสียค่าสัญญาให้แล้วยังต้องให้หัวหน้าโควต้าเป็นผู้จัดการขนส่งอ้อยให้ด้วย จากการศึกษาพบว่า การนำรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้ามาใช้ในการขนส่งอ้อยเป็นวิธีที่เหมาะสม แต่ยังมีปัญหาในด้านการจัดลำดับการขนส่งที่ยังล่าช้าและเสียเวลา ตลอดจนการไม่สามารถจะให้ประโยชน์จากรถบรรทุกนอกฤดูอ้อย อัตราค่าขนส่งอ้อยเป็นอัตราค่าขนส่งที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งสินค้าอื่น ๆ ค่าขนส่งอ้อยเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของหัวหน้าโควตา นอกเหนือจากค่าหัวตันซึ่งเป็นค่าสัญญา รายได้จากการประกอบการขนส่งอ้อยให้ผลตอบแทนที่เป็นกำไรเกินปกติแก่ผู้ประกอบการ ผลจากการศึกษาสรุปได้ว่า ระบบการขนส่งอ้อยในปัจจุบันควรจะได้แก้ไขและเปลี่ยนแปลงวิธีการบางอย่าง เช่น การลดจำนวนโควตาขั้นต่ำลง เพื่อให้ชาวไร่รายเล็กมีโอกาสติดต่อกับโรงงานได้โดยตรงไม่ต้องขายอ้อยผ่านคนกลาง การรอคิวที่โรงงานน้ำตาลจะลดลงได้ถ้าโรงงานจัดให้มีการขนถ่ายอ้อยลงที่โรงงานเมื่อรถบรรทุกอ้อยมาถึงโรงงานและผ่านการชั่งน้ำหนักแล้ว และเป็นการลดจำนวนรถบรรทุกที่จะต้องนำมาใช้ในการขนส่งอ้อยด้วย ถ้ารถบรรทุกสามารถจะใช้เวลาในการขนส่งอ้อยต่อเที่ยวน้อยลง ก็จะไปขนส่งอ้อยได้จำนวนเที่ยวมากขึ้น อัตราค่าขนส่งก็ควรจะลดลงได้บ้าง ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในด้านการตลาดของโรงงานน้ำตาลลดลงได้ แต่การที่ระบบการขนส่งอ้อยเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้และไม่มีการแก้ไข ก็เพราะการกำหนดราคาอ้อยของรัฐบาลเป็นราคาส่งมอบที่โรงงานน้ำตาล โรงงานน้ำตาลไม่สามารถจะซื้ออ้อยต่ำกว่าราคาที่ตกลงกันไว้ ดังนั้น ไม่มีสิ่งจูงใจใด ๆ ที่จะทำให้โรงงานน้ำตาลเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดและเงื่อนไขวิธีการขนส่งอ้อยที่ต่างไปจากนี้ อย่างไรก็ดี จากการศึกษาเรื่องการขนส่งอ้อยนี้ ได้วิเคราะห์ในแง่ของเอกชนเป็นสำคัญ ถ้าจะมีการศึกษาในด้านต้นทุนทางสังคมเพิ่มเติมอีกก็จะทำให้ทราบเรื่องระบบการขนส่งอ้อยได้ชัดเจนขึ้น