บทคัดย่องานวิจัย

ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่เกษตรกรผลิตให้ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่

นิตยา ชัยคำ

วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เกษตรศาสตร์ (สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 82 หน้า

2543

บทคัดย่อ

ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่เกษตรกรผลิตให้ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่เกษตรกรผลิตให้ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่และเพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวหอมมะลิ 105 ประชากรที่ใช้ในการศึกษาคือ เกษตรกรที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ให้ศูนย์ขยายพันธุ์ที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 116 ราย การรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์สถิติที่ใช้คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าสูงสุด ค่าต่ำสุด ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบไคสแควร์ (Chi-square test) จากการศึกษาพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศชายมีอายุมากกว่า 40 ปี จบการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 แรงงานในครัวเรือน 1-2 คน สภาพพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาดอน เกษตรกรส่วนใหญ่กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพื่อใช้ในการผลิตการเกษตร การใช้ปุ๋ยเคมีส่วนใหญ่ใช้สูตร 16-20-0 ใส่ในระยะแตกกอและระยะตั้งท้อง เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูก 5 กิโลกรัมต่อไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่มี การตรวจพันธุ์ปนในนาข้าว การเก็บเกี่ยวใช้แรงงานคนในเดือนพฤศจิกายนและนวดข้าวโดยใช้เครื่องจักรกล การทดสอบสมมาติฐานพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ (ความชื้น ความงอก และพันธุ์ปน) อย่างมีนัยสำคัญ (P=0.05) ได้แก่ เพศ อายุของเกษตรกร ประสบการณ์ในการผลิตเมล็ดพันธุ์และมีนัยสำคัญยิ่ง (P=0.01) คือการเก็บเกี่ยวโดยใช้แรงงานคน ปัญหาในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ได้แก่ต้นทุนในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวสูง เมล็ดพันธุ์ที่ใช้มีพันธุ์ปน การขนส่งเมล็ดข้าวจากแหล่งผลิตไปศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 7 ไม่สะดวกและปัญหาการทำลายของโรคและแมลง ข้อเสนอแนะจากผลการวิจัยครั้งนี้คือ ควรมีการควบคุมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ให้มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์