บทคัดย่องานวิจัย

ความแปรปรวนทางไอโซไซม์ สัณฐานวิทยา ผลผลิต และคุณภาพการหุงต้มของข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ

นงนุช ประดิษฐ์

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เกษตรศาสตร์ (สาขาวิชาพืชไร่) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 92 หน้า

2542

บทคัดย่อ

ความแปรปรวนทางไอโซไซม์ สัณฐานวิทยา ผลผลิต และคุณภาพการหุงต้มของข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ พันธุ์ข้าวขาวมะลิ 105 ซึ่งประกาศเป็นพันธุ์ส่งเสริมในปี พ.ศ. 2502 เป็นพันธุ์ที่คัดเลือกจากสายพันธุ์ข้าวหอมในอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา การส่งเสริมพันธุ์ดังกล่าวมาเป็นเวลา 40 ปี อาจเกิดความแปรปรวนจากพันธุ์เดิม เนื่องจากการปะปนของเมล็ดพันธุ์ข้าวและการกลายพันธุ์ได้ นอกจากนี้คาดว่ามีความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวหอม ซึ่งมีคุณภาพใกล้เคียงกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของข้าวขาวดอกมะลิรวม 74 ตัวอย่าง ซึ่งเก็บรวบรวมจาก 17 จังหวัด โดยวิเคราะห์ไอโซไซม์ พร้อมทั้งพิจารณาลักษณะทางสัณฐาน การเจริญเติบโตและพัฒนาการของต้นข้าว ลักษณะที่สัมพันธ์กับการให้ผลผลิต ผลผลิต คุณภาพการหุงต้มและปริมาณโปรตีนประกอบกันไปด้วย ทั้งนี้ได้ใช้ข้าวพันธุ์คัดขาวดอกมะลิ 105 และกข 6 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบมาตรฐาน การศึกษาแบ่งเป็นสามส่วน ส่วนที่หนึ่งศึกษาในแปลงทดลองเพื่อวัดความแปรปรวนของลักษณะทางสัณฐาน การเจริญเติบโตและพัฒนาการของต้นข้าว ลักษณะที่สัมพันธ์กับการให้ผลผลิตและผลผลิตใช้ระยะปลูก 25x25 เซนติเมตร จำนวนหนึ่งต้นต่อหลุม โดยมีพื้นที่ 1x2 ตารางเมตรต่อหน่วยทดลองย่อยมี 2 ซ้ำ ประเมินลักษณะผลผลิตจากพื้นที่ 1 ตารางเมตร ทำการทดลองที่สถานีทดลองศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตการเกษตร ส่วนที่สองเป็นการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางไอโซไซม์ โดยวิธีทางอิเลคโตรโฟรีซิส ใช้ใบและส่วนของลำต้นเหนือดินอายุ 7 วัน โดยเตรียมเจล (polyacrylamide gel) ตามสูตรดัดแปลงของ Hames. และ Rickwood (1981) ทำการย้อมสีเอนไซม์ตามสูตรดัดแปลงของ Vallejos (1983) ดำเนินการในห้องปฏิบัติการเคมี หน่วยวิจัยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ภาควิชาพืชสวน ลักษณะภายนอกที่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ความกว้างของใบธง ความสูงที่ระยะออกดอก อายุวันที่ออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์ จำนวนหน่อต่อต้นที่ระยะออกดอก จำนวนรวงต่อต้นที่ระยะเก็บเกี่ยวเปอร์เซ็นต์การสร้างรวง น้ำหนัก 1,000 เมล็ด ผลผลิตและลักษณะเมล็ดข้าวกล้อง ส่วนที่สาม เป็นการวิเคราะห์คุณภาพการหุงต้ม ได้แก่ ปริมาณแป้งอมิโลส ค่าความคงตัวของแป้งสุก ค่าการสลายตัวของเมล็ดในด่าง อัตราการยืดตัวของข้าวสุกและปริมาณโปรตีน การใช้รูปแบบของไอโซไซม์ 6 ชนิด พบว่า เอนไซม์ Esterase (EST), Glutamate oxaloacetate transaminase (GOT), Leucine aminopeptidase (LAP), Malic enzyme (ME) ร่วมกับ Isocitrate dehydrogenase (IDH) และ Malate dehydrogenase (MDH) สามารถจำแนกตัวอย่างข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิออกเป็น 55 กลุ่มพันธุ์ โดยมีกลุ่มพันธุ์ที่มี 1 สมาชิกจำนวน 42 กลุ่มพันธุ์ กลุ่มพันธุ์ที่มี 2 สมาชิกจำนวน 10 กลุ่มพันธุ์ กลุ่มพันธุ์ที่มี 3 สมาชิกจำนวน 1 กลุ่มพันธุ์ กลุ่มพันธุ์ที่มี 4 สมาชิกจำนวน 1 กลุ่มพันธุ์และกลุ่มพันธุ์ที่มี 5 สมาชิกจำนวน 1 กลุ่มพันธุ์ ไม่มีตัวอย่างใดถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 พันธุ์คัด ตัวอย่างข้าวทุกตัวอย่างแสดงค่าอุณหภูมิแป้งสุกสูง อัตราการยืดตัวปกติและลักษณะเมล็ดข้าวกล้องเรียวยาว แต่มีปริมาณอมิโลส ค่าความคงตัวของแป้งสุก และปริมาณโปรตีนแตกต่างกัน ข้าวทุกตัวอย่างมีผลผลิตสูงกว่าข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 โดยมีผลผลิต 387-598 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 มีผลผลิตเท่ากับ 314 กิโลกรัมต่อไร่ ตัวอย่างข้าวที่มีคุณภาพการหุงต้มเหมือนข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 แต่มีปริมาณโปรตีนมากกว่าและผลผลิตสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ มี 5 ตัวอย่าง ซึ่งมีแหล่งที่มาจากจังหวัดสุพรรณบุรี มหาสารคาม กาฬสินธุ์ สุรินทร์และไม่ทราบแหล่งที่มา 1 ตัวอย่าง