บทคัดย่องานวิจัย

การสะสมน้ำหนักแห้งในเมล็ด ผลผลิตและองค์ประกอบของผลผลิตของถั่วเหลืองพันธุ์และสายพันธุ์ต่าง ๆ ในสภาพการระบาดของโรคราสนิมถั่วเหลือง

ทนงศักดิ์ มณีวรรณ

วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์)) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 112 หน้า

2528

บทคัดย่อ

การสะสมน้ำหนักแห้งในเมล็ด ผลผลิตและองค์ประกอบของผลผลิตของถั่วเหลืองพันธุ์และสายพันธุ์ต่าง ๆ ในสภาพการระบาดของโรคราสนิมถั่วเหลือง  การศึกษาถึงลักษณะทางสรีระซึ่งได้แก่ การสะสมน้ำหนักแห้งในเมล็ด ผลผลิตและองค์ประกอบของผลผลิตของถั่วเหลืองพันธุ์และสายพันธุ์ต่าง ๆ จำนวน 12 พันธุ์ ที่ปลูกในสภาพที่มีการระบาดของโรคราสนิม ได้กระทำขึ้น ณ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ การทดลองที่ 1 ทำในฤดูแล้ง เมื่อเดือน มกราคม พ.ศ. 2525 ในสภาพที่ไม่มีโรคราสนิมระบาด และการทดลองที่ 2 ปลูกในฤดูฝน เดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน แต่ในการทดลองที่สองนั้นมีการปลูกถั่วเหลืองในทั้งสภาพที่ให้มีโรคราสนิมระบาด และสภาพที่ใช้สารเคมีพ่นควบคุม จากการทดลองพบว่า การปลูกถั่วเหลืองในฤดูแล้ง ผลผลิตของพันธุ์และสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ทำการทดลองไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อปลูกถั่วเหลืองในฤดูฝน ในสภาพที่มีโรคราสนิมระบาด ผลผลิตของถั่วเหลืองจะลดลงถึง 39 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับแปลงที่ใช้สารเคมีพ่นควบคุมโรค โดยพบว่า สายพันธุ์ G.8377 และพันธุ์ S.J.4 ให้ผลผลิตสูงสุดในสภาพที่เป็นโรคและปลอดโรคตามลำดับ สำหรับองค์ประกอบของผลผลิตนั้น พบว่าสายพันธุ์ RAD-K.U.5 ให้จำนวนฝักต่อต้นสูงสุดในการปลูกในฤดูแล้ง ส่วนพันธุ์ S.J.2 และสายพันธุ์ RAD-K.U.4 ให้จำนวนฝักต่อต้นสูงสุด เมื่อปลูกในสภาพที่เป็นโรคและพ่นสารเคมีควบคุม ซึ่งปลูกในฤดูฝน ส่วนระดับความรุนแรงของโรคราสนิมถั่วเหลืองนั้น ได้พบว่า สายพันธุ์ RAD-K.U.1 เป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างต้านทานต่อโรคราสนิมมาก ขณะที่พันธุ์ T.K.5 เป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคนี้มากกว่าพันธุ์อื่น ๆ ทั้งหมด สำหรับอัตราและระยะเวลาการสะสมน้ำหนักแห้งในเมล็ดของถั่วเหลืองพันธุ์และสายพันธุ์ต่าง ๆ นั้น ไม่พบว่ามีความแตกต่างกันแต่อย่างใด จากการทดลองนี้ ได้พบความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการสะสมน้ำหนักแห้งในเมล็ดกับขนาดของเมล็ดซึ่งมีค่าเป็นบวก และมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การเพิ่มขนาดของเมล็ดนั้น ขึ้นอยู่กับอัตราการสะสมน้ำหนักแห้งของเมล็ดต่อวัน อย่างไรก็ตามสำหรับการทดลองนี้ไม่พบอิทธิพลของการระบาดของโรคต่อขนาดของเมล็ด หรืออัตราการสะสมน้ำหนักแห้งของเมล็ดแต่อย่างใด