บทคัดย่องานวิจัย

คุณภาพผลและผลของแสงต่อการพัฒนาสีของสตรอเบอรี่หลังการเก็บเกี่ยว

สมคิด ใจตรง

วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เกษตรศาสตร์ (สาขาวิชาพืชสวน)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2544. 88 หน้า.

2544

บทคัดย่อ

คุณภาพผลและผลของแสงต่อการพัฒนาสีของสตรอเบอรี่หลังการเก็บเกี่ยว การศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยา คุณสมบัติทางกายภาพ และส่วนประกอบทางเคมีของผลสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 50 และ 70 พบว่าสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 50 มีสีผิวและสีเนื้อเป็นสีแดงแสดถึงแดงเข้ม มีเมล็ดสีเหลืองอมเขียว เหลืองถึงแดง และมีลักษณะเมล็ดจมอยู่ในผิวผล ในขณะที่พันธุ์พระราชทาน 70 มีผิวสีแดงอมส้มและมีสีเนื้อขาวปนส้ม เมล็ดสีชมพูส้มถึงแดง และเมล็ดมีลักษณะจมลงไปในผิวผล เมื่อเก็บเกี่ยวในระยะสีผิวเปลี่ยนเป็นสีแดง 75 เปอร์เซ็นต์ ผลของสตรอเบอรี่ทั้งสองพันธุ์มีรูปร่างผลส่วนใหญ่เป็นทรงแหลม พันธุ์พระราชทาน 70 มีรูปร่างค่อนข้างสม่ำเสมอตลอดฤดูกาล ในขณะที่พันธุ์พระราชทาน 50 ช่วงต้นฤดูมีรูปร่างแบบลิ่มยาวแต่ปลายฤดูมีรูปร่างทรงยาวมีคอ ผลสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 50 และ 70 ที่ระยะผิวเป็นสีแดง 25, 50 และ 75 เปอร์เซ็นต์ มีปริมาณวิตามินซีใกล้เคียงกันโดยผันแปรจาก 41.94 ถึง 44.86 มก./100 ก. ปริมาณน้ำตาลรีคิวซิ่งของผลสตรอเบอรี่ทั้งสองพันธุ์สูงกว่าน้ำตาลซูโครส และพันธุ์พระราชทาน 70 มีน้ำตาลทั้งหมดและปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ สูงกว่าพันธุ์พระราชทาน 50 แต่มีปริมาณกรดที่ไตเตรทได้และความแน่นเนื้อต่ำกว่าพันธุ์พระราชทาน 50 ในทุกระยะของการสุกผู้ทดสอบชิมใหคะแนนความชอบผลสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 70 มากกว่าพันธุ์พระราชทาน 50 การให้แสงจากหลอดฟลูออเรสเซนท์ที่ความเข้มแสง 18 w/M2 ที่อุณหภูมิ 2 องศาเซลเซียสนาน 2 ชั่วโมง แก่ผลสตรอเบอรี่ที่ระยะสีผิวเปลี่ยนเป็นสีแดง 25 และ 50 เปอร์เซ็นต์ แล้วนำไปเก็บรักษาต่อที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส นาน 3 วัน พบว่าแสงไม่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนสีผิวและสีแกนของทั้งสองพันธุ์ แต่ผลทำให้สีเนื้อของผลสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 50 แดงขึ้นเมื่อเก็บเกี่ยวในระยะเปลี่ยนสี 25 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณแอนโธไซยานินที่ผิวของผลสตรอเบอรี่กลุ่มที่ได้รับแสงไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้รับแสงและแสงไม่มีผลกระทบตอกลิ่น รสชาด ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ ความแน่นเนื้อและการเน่าเสียของทั้งพันธุ์พระราชทาน 50 และ 70 อัตราการหายใจของผลสตรอเบอรี่ทั้งสองพันธุ์ที่ระยะสีผิวเปลี่ยนเป็นสีแดง 25 และ 50 เปอร์เซ็นต์ระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง นาน 1 วัน ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ