บทคัดย่องานวิจัย

อิทธิพลของอายุผล อุณหภูมิในการเก็บรักษา และฟิล์มพลาสติกต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาเนื้อทุเรียนพันธุ์หมอนทอง

มาลี ทองแดง

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาชีววิทยา) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 160 หน้า.

2544

บทคัดย่อ

อิทธิพลของอายุผล อุณหภูมิในการเก็บรักษา และฟิล์มพลาสติกต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาเนื้อทุเรียนพันธุ์หมอนทอง การศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและทางเคมีของทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่เก็บเกี่ยว เมื่อผลมีอายุต่างกัน ได้แก่ 86 93 100 107 114 121 128 และ 135 วันหลังดอกบาน พบว่า ความแน่นเนื้อมีค่าลดลงตามอายุของผลที่เพิ่มขึ้น ส่วนสีเนื้อมีสีเหลืองเข้มขึ้นและสีเมล็ดมีสีน้ำตาลเข้มขึ้น เมื่อผลมีอายุมากขึ้น เมื่อนำผลที่อายุต่างกันมาวางให้สุกที่อุณหภูมิห้อง (28 องศาเซลเซียส) พบว่าจำนวนวันที่ใช้ในการสุกลดลงตามอายุของผลที่เพิ่มขึ้น ขณะที่เปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนักและเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งมีค่าเพิ่มขึ้น สำหรับการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมี พบว่าปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ ปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์ ปริมาณไขมัน และอัตราการหายใจมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น แต่ปริมาณแป้งและปริมาณน้ำมีค่าลดลง จากการประเมินคุณภาพหลังจากวางให้ผลสุกที่อุณหภูมิห้อง โดยผู้ทดสอบพบว่าคุณภาพด้านสีเนื้อ ความหวาน และกลิ่น มีคะแนนเพิ่มสูงขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผลอายุ 121 วันหลังดอกบาน พบว่าการประเมินคุณภาพจากผู้ทดสอบมีความชอบมากที่สุด เมื่อนำผลที่มีอายุ 121 วันหลังดอกบานมาวางให้สุกที่อุณหภูมิห้อง แล้วแกะเอาแต่ส่วนเนื้อที่มีเมล็ดอยู่มาทำการเก็บรักษาในอุณหภูมิ 5 10 13 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิห้อง (28 องศาเซลเซียส) โดยหุ้มเนื้อผลด้วยฟิล์มพลาสติก 3 ชนิด คือ polyvinyl chloride (PVC),linear low density polyethylene(LLDPE)และ polyprophylene(PP)เปรียบเทียบกับชุดควบคุมที่ไม่ได้หุ้มฟิล์ม พบว่าเนื้อทุเรียนที่ทำการเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องที่หุ้มด้วยทุกชนิดฟิล์มเก็บรักษาได้เพียง 2 วัน ส่วนเนื้อทุเรียนที่เก็บรักษาในอุณหภูมิ 13 10 และ 5 องศาเซลเซียส เก็บรักษาได้นาน 16 20 และ 32 วัน ตามลำดับ โดยเนื้อทุเรียนที่เก็บรักษาในอุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส มีความแน่นเนื้อและอัตราการหายใจที่ลดลงและการสูญเสียน้ำหนักต่ำกว่า รวมทั้งมีคะแนนการยอมรับสูงกว่าในอุณหภูมิอื่น ๆ ส่วนชนิดฟิล์มพบว่าเนื้อทุเรียนที่ไม่หุ้มฟิล์มที่เก็บรักษาในอุณหภูมิ 5 10 และ 13 องศาเซลเซียส สามารถเก็บรักษาได้เพียง 8 วัน ส่วนเนื้อทุเรียนที่หุ้มด้วยฟิล์ม PVC สามารถชะลอการลดลงของความแน่นเนื้อและอัตราการหายใจและมีคะแนนการยอมรับสูงกว่าเนื้อทุเรียนที่หุ้มฟิล์ม LLDPE และ PP เมื่อเก็บรักษานาน 32 วัน ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางเคมีพบว่าปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ ปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์ ปริมาณไขมันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย ส่วนปริมาณแป้งลดลง แต่มีค่าไม่แตกต่างกันทางสถิติในทุกชุดการทดลอง เมื่อนำมาตรวจสอบปริมาณจุลินทรีย์พบว่าเนื้อทุเรียนที่หุ้มด้วยฟิล์ม PVC ที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส นานกว่า 28 วัน มีปริมาณจุลินทรีย์เกินมาตรฐานกำหนด ดังนั้นเนื้อทุเรียนที่หุ้มด้วยฟิล์ม PVC เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส สามารถเก็บรักษาได้นาน 28 วัน