บทคัดย่องานวิจัย

การหาปริมาณนิโคตินในใบยาสูบในเขตภาคเหนือของประเทศไทย โดยวิธีสเปกโตรโฟโตเมตรี

นิเวศน์ อุดมรัตน์

การค้นคว้าแบบอิสระ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาการสอนเคมี) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 107 หน้า

2527

บทคัดย่อ

การหาปริมาณนิโคตินในใบยาสูบในเขตภาคเหนือของประเทศไทย โดยวิธีสเปกโตรโฟโตเมตรี การหาปริมาณนิโคตินในใบยาสูบตัวอย่าง 20 ตัวอย่าง ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย ในการค้นคว้านี้ได้ใช้ 2 วิธีคือ สเปกโตรโฟโตเมตรีและการไตเตรท ทั้ง 2 วิธี จะต้องสกัดนิโคตินออกจากใบยาสูบโดยการกลั่นด้วยไอน้ำก่อนนำไปวิเคราะห์ พบว่าภาวะที่เหมาะสมคือ ใช้โซเดียมไอดรอกไซด์เข้มข้น 30 เปอร์เซ็นต์ซึ่งอิ่มตัวด้วยโซเดียมคลอไรด์ปริมาตร 5 ซม3 ใช้เวลาในการกลั่นอย่างน้อย 20 นาที วิธีสเปกโตรโฟโตเมตรีอาศัยหลักการที่นิโคตินที่กลั่นได้ทำปฏิกิริยากับกรดไฮโดรคลอริกเจือจางได้นิโคตินไดคลอเรตซึ่งดูดกลืนแสงมากที่สุดที่ความยาวคลื่น 259 นาโนเมตร กราฟมาตรฐานเป็นเส้นตรงอยู่ในช่วง 0.0-30.0 พีพีเอ็ม จากการวิเคราะห์หาปริมาณนิโคตินในใบยาสูบตัวอย่างพบว่าอยู่ในช่วง 0.19-1.55 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานสัมพัทธ์เป็นร้อยละ 7.34 และร้อยละการคืนกลับเป็น 92.20 เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการหาปริมาณนิโคตินโดยวิธีไตเตรชัน โดยนำสารละลายที่กลั่นได้ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นเบสสามารถนำมาไตเตรทกับกรดไฮโดรคลอริกเข้มข้น 0.0200 โมล/ลูกบาศก์เดซีเมตร มีเมทธิลเรดเป็นอินดิเคเตอร์ จากการวิเคราะห์หาปริมาณนิโคตินในใบยาสูบตัวอย่างพบว่าอยู่ในช่วง 0.27-1.73 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักซึ่งได้ปริมาณนิโคตินมากกว่าวิธีสเปกโตรโฟโตเมตรีเพราะว่าอาจมีแอลคาลอยด์อื่น ๆ นอกจากนิโคตินอยู่ในตัวอย่างใบยาสูบตัวอย่าง ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานสัมพัทธ์โดยวิธีไตเตรชันเป็นร้อยละ 3.61 และร้อยละของการคืนกลับเป็น 94.63