บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสารเร่งการสุกแก่ที่มีต่อการสูญเสียของข้าวในกระบวนการเก็บเกี่ยวและการนวด

ชมพูนุท วราราช

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2545. 66 หน้า.

2545

บทคัดย่อ

ผลของสารเร่งการสุกแก่ที่มีต่อการสูญเสียของข้าวในกระบวนการเก็บเกี่ยวและการนวด นการทดลองนี้ได้ศึกษาวิธีการลดความชื้นข้าวก่อนเก็บเกี่ยว โดยการใช่สารเร่งการสุกแก่ไดเมทธีพิน (Dimethipin) และหาผลกระทบของการใช้สารเคมีในด้านการสูญเสียผลผลิตและคุณภาพการสี วางแผนการทดลองแบบ Factorial in RCB กรรมวิธีการทดลอง ได้แก่ ปัจจัย A วิธีการเก็บเกี่ยว คือเก็บเกี่ยวด้วยเมือและเครื่องเกี่ยวนวด ปัจจัย B ระยะเวลาการพ่นสารคือ ไม่พ่นสารที่ระยะ PM และพ่นสารที่ระยะหลัง PM 4 วันข้อมูลที่บันทึกได้แก่ ความชื้นเมล็ด ปริมาณการสูญเสียจากการเก็บเกี่ยวและนวด ปริมาณผลผลิต และคุณภาพของสีของข้าวหลังเก็บเกี่ยว ทำการศึกษาในแปลงเกษตรกร อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2544

ผลการศึกษาพบว่า เมื่อไม่มีการพ่นสาร ความชื้นเมล็ดจะลดลงจาก 30.8% (wb) ที่ PhysiologicalMaturity(PM) เป็นประมาณ 16.4% (wb) ในเวลา 11 วัน ส่วนการพ่นสารที่ PM และการพ่นสารหลัง PM 4 วัน จะทำให้ความชื้นลดลงจาก 31.8 – 32.6% (wb) เป็นประมาณ16 % ในเวลา 5 และ 8 วัน ตามลำดับ ดังนั้นการใช้สารพ่นจะช่วยให้สามารถเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น 3 – 6 วัน โดยคามชื้นข้าวที่ได้จะต่ำกว่าการไม่ใช้สารพ่นมาก

จากการศึกษาวิธีการเก็บเกี่ยวพบว่าการเก็บเกี่ยวด้วยมทอและด้วยเครื่องเกี่ยวนวดให้ผลผลิตไม่แตกต่าง แต่การใช้เครื่องจะทำงานได้เร็วกว่ามากและการพ่นสารจะให้ผลผลิตน้อยกว่าไม่พ่นสารอย่างมีนัยสำคัญ การเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องโดยไม่พ่นสาร (ที่ความชื้น 16% wb) จะให้ผลผลิต 406.84 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนการพ่นสารที่ PM และหลัง PM 4 วันแล้วเก็บเกี่ยวที่ความชื้นเดียวกันจะให้ผลผลิต 344.98 กิโลกรัมต่อไร่ และ 365.60 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ สำหรับการสูญเสียจากการเก็บเกี่ยวดังกล่าวมีค่าเท่ากับ 3.29, 6.98 และ 4.09 เปอร์เซ็นต์

ในด้านคุณภาพการสีพบว่าการพ่นสารหลัง PM 4 วัน ให้คุณภาพการสีสูงสุดทั้งการเก็บเกี่ยวด้วยมือและการเก็บเกี่ยวด้วยเครื่อง คือให้เปอร์เซ็นต์ต้นข้าวเท่ากับ 80.3 และ 75.9% ตามลำดับ เมื่อพิจารณาผลตอบแทนที่ได้พบว่าการพ่นสารในทุกกรรมวิธีให้ผลตอบแทนสูงกว่าการไม่พ่นสาร