บทคัดย่องานวิจัย

อิทธิพลของอุณหภูมิและชั้นความหนาต่อการอบแห้งหอมหัวใหญ่หั่น ในเครื่องอบแห้งแบบสลับทิศทางลมร้อน

ศิริทรัพย์ เถาปฐม

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2544. 116 หน้า.

2544

บทคัดย่อ

อิทธิพลของอุณหภูมิและชั้นความหนาต่อการอบแห้งหอมหัวใหญ่หั่นในเครื่องอบแห้งแบบสลับทิศทางลมร้อน  ลดความชื้นหอมหัวใหญ่ด้วยเครื่องอบแห้งไฟฟ้าประเภทถาด โดยการอบแห้งหอมหัวใหญ่หั่นขนาด 0.3 x 0.3 cm ชั้นความหนา 1 cm ควบคุมความเร็วลมคงที่ 0.3 m/s ตลอดการทดลองอบแห้งด้วยลมร้อนอุณหภูมิคงที่ 3 ระดับ คือ 60°C, 70°C และ 80°C พบว่าการอบแห้งด้วยลมร้อน 80°C มีผลให้หอมหัวใหญ่มีอัตราการลดความชื้นสูงสุด ใช้เวลาอบแห้งสั้นที่สุด 7 ชั่งโมง 15 นาที สามารถลดความชื้นจากความชื้นเริ่มต้นประมาณ 92.36%(w.b.) ลงเหลือประมาณ 12%(w.b.) ได้หอมหัวใหญ่แห้งที่มีสีใกล้เคียงกับหอมหัวใหญ่อบแห้งทางการค้ามากที่สุด

การลดความชื้นหอมหัวใหญ่โดยวิธีการลดอุณหภูมิความร้อน (80 – 70 – 60°C) ด้วยเครื่องอบแห้งไฟฟ้าประเภทถาด พบว่าการอบแห้งโดยวิธีการลดอุณหภูมิลมร้อนไม่สามารถช่วยลดเวลาการอบแห้งได้ ยังคงใช้เวลาอบแห้งเท่ากับการอบแห้งด้วยลมร้อนอุณหภูมิคงที่ 60° C ซึ่งใช้เวลา 11 ชั่วโมง 15 นาที ในการลดความชื้นลงจากความชื้นเริ่มต้น 92.21%(w.b.) เหลือ 12%(w.b.) ได้หอมหัวใหญ่แห้งที่มีสีอ่อนกว่าหอมหัวใหญ่อบแห้งทางการค้า

การศึกษาการลดความชื้นหอมหัวใหญ่ด้วยเครื่องอบแห้งแบบสลับทิศทางลมร้อน โดยอบแห้งหอมหัวใหญ่หั่นที่ชั้นความหนา 3 ระดับคือ 1, 1.25 และ 1.50 cm ด้วยลมร้อน 3 ระดับอุณหภูมิ คือ 60°C,70° C และ 80°C ความเร็วลมเฉลี่ยทั้งตู้อบ 0.45 – 0.46 m/s ทำการสลับทิศทางลมร้อนทุกๆ 2 ชั่วโมง ทุกการทดลองทำ 3 ซ้ำ ผลการทดลองพบว่าอุณหภูมิลมร้อนมีผลต่อการลดความชื้น ระยะเวลาการอบแห้ง และคุณภาพหลังการอบแห้ง ส่วนชั้นความหนามีผลต่อการลดความชื้นและระยะเวลาในการอบแห้ง แต่ไม่มีผลต่อคุณภาพหลังอบแห้ง การแบแห้งด้วยลมร้อน 80 C ชั้นความหนา 1.50 cm เป็นวิธีที่ทำให้ได้หอมหัวใหญ่ที่มีสีใกล้เคียงกับหอมหัวใหญ่อบแห้งทางการค้ามากที่สุด และมีอัตราการคืนตัวสูงกว่าหอมหัวใหญ่อบแห้งทางการค้า โดยใช้เวลาอบแห้ง 12 ชั่วโมง 30 นาที ในการลดความชื้นลงจากความชื้นเริ่มต้น 93.84%(w.b.) ลงเหลือ 12%(w.b.)

การอบแห้งหอมหัวใหญ่ที่ชั้นความหนา 1.50 cm ด้วยลมร้อน 80° C ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับหอมหัวใหญ่อบแห้งทางการค้า ซึ่งในทางเทคนิคมีความเป็นไปได้ในการผลิตเพื่อการค้า ต้นทุนการผลิตวิธีนี้ด้วยเครื่องต้นแบบเท่ากับ 254.39 บาทต่อกิโลกรัมแห้ง สามารถขายได้ในราคากิโลกรัมละ 250 บาท ซึ่งจะทำให้ขาดทุนกิโลกรัมละ 4.39 บาท ทั้งนี้เนื่องจากต้นทุนค่าหั่นซึ่งใช้แรงงานจ้างมีราคาสูงถึง 105.11 บาทต่อกิโลกรัมแห้ง ดังนั้นหากสามารถลดค่าใช้จ่าย ส่วนนี้โดยการใช้เครื่องหั่นจะสามารถลดต้นทุนค่าหั่นลงเหลือเพียง 9.18 บาทต่อกิโลกรัมแห้ง ก็จะสามารถทำกำไรได้กิโลกรัมละ 91.61 บาท