บทคัดย่องานวิจัย

อิทธิพลของระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยา วิธีการเก็บเกี่ยวและสภาพการเก็บรักษา ที่มีผลต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสดพันธุ์เชียงใหม่ 1

ศิรกานต์ มุกดาหาร

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพืชสวน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2545. 94 หน้า.

2545

บทคัดย่อ

อิทธิพลของระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยา วิธีการเก็บเกี่ยวและสภาพการเก็บรักษา ที่มีผลต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสดพันธุ์เชียงใหม่ 1 ถั่วเหลืองฝักสดเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจพืชหนึ่งในด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์พบว่ายังมีปัญหาเรื่องคุณภาพเมล็ดพันธุ์ซึ่งการเก็บเกี่ยวเป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์เนื่องจากถั่วเหลืองฝักสดเป็นพืชที่ทยอยออกดอกมีการพัฒนาของฝักไม่สม่ำเสมอทำให้เกษตรกรที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ทยอยเก็บฝักแก่ไปเรื่อยๆ ดังนั้นจึงทำการศึกษาอิทธิพลของระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยา วิธีเก็บเกี่ยวและสภาพการเก็บรักษาที่มีผลต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสดพันธุ์เชียงใหม่ 1 โดยแบ่งเป็น 3 การทดลองดังนี้ การทดลองที่ 1 ศึกษาระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยาของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสดพันธุ์เชียงใหม่ 1 ทำการศึกษาที่หมวดพืชผัก ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยศึกษาในฤดูแล้งระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2542 วางแผนการทดลองแบบ Completely Randomized Design จำนวน 4 ซ้ำ จากการศึกษาพบว่า ระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยาอยู่ที่ 48 วันหลังดอกบาน เมล็ดมีน้ำหนักแห้ง 100 เมล็ดสูงสุดคือ 23.56 กรัม ความชื้น 46.50 เปอร์เซ็นต์ ความงอก 59.50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสีฝักและสีเมล็ดเปลี่ยนเป็นสีเหลืองปนเขียว ความงอกของเมล็ดสูงสุดที่ 57 วันหลังดอกบาน มีความงอก 81 เปอร์เซ็นต์ ความชื้น 24.12 เปอร์เซ็นต์ การทดลองที่ 2 ศึกษาวิธีการเก็บเกี่ยวที่มีผลต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสดพันธุ์เชียงใหม่ 1 ทำการศึกษาที่บ้านหนองผือ ตำบลทุ่งโป่ง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น โดยศึกษาในฤดูแล้ง ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2542 ถึงเมษายน พ.ศ. 2543 วางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block Design ศึกษาวิธีการเก็บเกี่ยวโดยใช้เกษตรกร 5 ราย แบ่งการเก็บเกี่ยวเป็น 3 วิธีคือ การเก็บเกี่ยว 1 ครั้ง การเก็บเกี่ยว 2 ครั้ง และ การเก็บเกี่ยว 3 ครั้งพบว่า การเก็บเกี่ยว 2 ครั้งคือ การเก็บครั้งที่ 1 ที่ 88 วันหลังปลูก และการเก็บครั้งที่ 2 หลังจากเก็บครั้งแรก 8 วัน ทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีและมีผลผลิตเมล็ดดีสูงเท่ากับ 197.40 กิโลกรัมต่อไร่ มีเมล็ดเขียว 2.19 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดเป็นโรค 0.80 เปอร์เซ็นต์ ความงอก 94.10 เปอร์เซ็นต์ และความแข็งแรง 93.05 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการเก็บเกี่ยว 3 ครั้งพบว่า การเก็บครั้งแรกโดยการเลือกปลิดฝักแก่ที่ 84 วันหลังปลูก ทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีที่สุดคือ มีความงอก 96.30 เปอร์เซ็นต์ และความแข็งแรง 96.70 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อคิดผลผลิตรวมของการเก็บเกี่ยว 3 ครั้งเท่ากับ 195.95 กิโลกรัมต่อไร่ มีเมล็ดเขียว 3.66 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดเป็นโรค 1.08 เปอร์เซ็นต์ และ ความแข็งแรง 92.63 เปอร์เซ็นต์ การทดลองที่ 3 ศึกษาการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสดพันธุ์เชียงใหม่ 1 ที่ได้จากวิธีการเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกันในสภาพต่างๆ แบ่งเป็น 2 การทดลองย่อยคือ การเก็บรักษาในห้องเก็บเมล็ดพันธุ์ศูนย์ขยาย พันธุ์พืช อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60 เปอร์เซ็นต์ และเก็บที่อุณหภูมิห้อง ทำการศึกษาที่ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 17 จังหวัดขอนแก่น และห้องปฏิบัติการวิทยาการเมล็ดพันธุ์ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระยะเวลาการเก็บรักษานาน 6 เดือน วางแผนการทดลองแบบ Factorial in Randomized Complete Block Design มี 4 ซ้ำ จำนวน 2 ปัจจัยคือ ปัจจัยที่ 1 ภาชนะในการเก็บรักษา 3 ชนิดคือ ถุงพลาสติก ถุงผ้า และปิ๊บ ปัจจัยที่ 2 คือ วิธีการเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกัน พบว่า การเก็บรักษาเมล็ดถั่วเหลืองฝักสดให้ได้ระยะเวลานานหากแยกวิธีการเก็บเกี่ยวแล้ว เมล็ดที่ได้จากการเลือกปลิดฝักแก่สามารถเก็บไว้ได้นานในทุกสภาพการเก็บรักษาและทุกภาชนะ โดยเมื่อเก็บไว้นาน 6 เดือน มีความงอก 85.33 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเก็บที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพันธ์ 60 เปอร์เซ็นต์ และความงอก 66.50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเก็บที่อุณหภูมิห้อง รองลงมาคือการเก็บเกี่ยว 2 ครั้งคือ เก็บครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เมื่อเก็บไว้นาน 6 เดือน มีความงอก 79 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเก็บที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60 เปอร์เซ็นต์ และความงอก 53.92 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเก็บที่อุณหภูมิห้อง ส่วนภาชนะในการเก็บรักษา ถุงพลาสติกและปิ๊บสามารถ เก็บรักษาเมล็ดได้นานที่สุด