บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาเชื้อรา Cercospora kikuchii (Matsumoto & Tomoyasu) Gardner. ที่ทำให้เกิดโรคเมล็ดสีม่วงกับถั่วเหลือง (Glycine max (L.) Merrill)

วิเชียร เอกศิริวรานนท์

วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (เกษตรศาสตร์)) โรคพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 130 หน้า.

2537

บทคัดย่อ

การศึกษาเชื้อรา Cercospora kikuchii (Matsumoto          ในการศึกษาเชื้อรา Cercospora kikuchii (Matsumoto & Tomoyasu) Gardner. สาเหตุโรคเมล็ดสีม่วงของถั่วเหลืองพบว่า สามารถตรวจสอบหาเชื้อได้ดีในอาหารวุ้นโดยใช้ PDA และกระดาษชื้น (blotter method) พบว่า วิธีการกระดาษชื้น การใช้ clorox 10% ฆ่าเชื้อที่ผิวเมล็ดนาน 1 นาที และบ่มเป็นเวลา 2-3 วัน ที่อุณหภูมิห้อง 24-26 องศาเซลเซียส เหมาะต่อการตรวจสอบหาเชื้อและการแยกเชื้อรานี้กว่าวิธีใช้อาหารวุ้น ผลการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเชื้อรานี้โดยใช้กล้อง Stereo และกล้องจุลทัศน์ พบว่าเชื้อรานี้สร้างก้านชูโคนิเดียเป็นกลุ่มสีดำเข้ม โคนิเดียติดอยู่ที่ปลายก้านชูโคนิเดีย (conidiophore) มีสีใสสะท้อนแสง ก้านชูโคนิเดียเกิดบนส่วนที่เรียกว่า stoma ก้านเดี่ยวๆ ไม่แตกกิ่งก้าน ขนาด 3.5-5.5x23.5-408 um สีน้ำตาลเหลืองที่ส่วนฐาน สีจะค่อยจางลงจนสีอ่อนใสส่วนปลายมีรอย conidial scar เมื่อสปอร์หลุดออก โคนีเดียสีใส หลายผนังกั้น รูปร่างทรงกระบอกปลายเรียวยาวขนาด 2.5- 7x56-462.5 um มีการสร้าง chlamydospore รูปร่างกลมผนังหนา สีน้ำตาลเหลือง ส่วนลักษณะทางสรีรวิทยาของเชื้อรานี้ พบว่า เจริญดีบนอาหาร soybean seed agar, V-8 juice agar และ carrot leaf decoction agar นอกจากนี้เชื้อราเจริญเติบโตได้บนอาหาร V-8A ที่ อุณหภูมิ 20, 25 และ 30 °C เจริญได้ดีที่สุดที่อุณหภูมิ 25 และ 30 °C และเจริญเติบโตได้ดีทั้งสภาวะที่มีแสงมืดตลอด สว่างตลอด หรือสว่างสลับมืดอย่างละ 12 ชั่วโมง สปอร์สร้างได้ดีและมากที่สุดที่สภาวะสว่างสลับมืดอย่างละ 12 ชั่วโมง การศึกษาการปลูกเชื้อรา C.kikuchii ด้วยสปอร์ระยะ R(,2) ของการเจริญเติบโตของถั่วเหลืองพันธุ์ สข.1 และ ชม.60 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอ ให้เปอร์เซ็นต์เมล็ดสีม่วงมากที่สุดเท่ากับ 54.58 และ 64.63% ตามลำดับ น้ำหนักผลผลิตไม่ลดลงไม่แตกต่างกับที่ไม่ได้ปลูกเชื้อรานี้ฤดูกาลมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นโรคนี้ การปลูกถั่วเหลืองในช่วงปลายฤดูฝนจะพบเปอร์เซ็นต์เมล็ดสีม่วงน้อยมากในทุกพันธุ์ทุกท้องที่ที่ทดลองในพันธุ์สข.1 ชม.60. กพส.292 และ TVB1 ซึ่งเป็นพันธุ์อ่อนแอก็ยังพบเปอร์เซ็นต์เมล็ดสีม่วงที่มากกว่าถั่วเหลืองพันธุ์อื่นๆ ที่ร่วมทดลอง จากการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดที่แสดงอาการสีม่วงเทียบกับเมล็ดปกติ พบว่า เปอร์เซ็นต์ความงอก โปรตีน น้ำมัน และองค์ประกอบกรดไขมันไม่แตกต่างกัน