บทคัดย่องานวิจัย

การเร่งอายุเมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาวเพื่อประเมินอายุการเก็บรักษาในเขตร้อนชื้น

พรวิวัช งามสิงห์

วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (พืชศาสตร์)) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2533. 70 หน้า.

2533

บทคัดย่อ

การเร่งอายุเมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาวเพื่อประเมินอายุการเก็บรักษาในเขตร้อนชื้น     การศึกษาการเร่งอายุเมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาวเพื่อประเมินอายุการเก็บรักษาในเขตร้อนชื้นได้ดำเนินการ ณ ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยใช้พันธุ์เมล็ดขาวและพันธุ์เจียไต๋ปรับเทคนิคการเร่งอายุโดยใช้อุณหภูมิ 3 ระดับ คือ 40, 41 และ 42 องศาเซลเซียส และเวลา 48, 72 และ 96 ชั่วโมง เปรียบเทียบและหาความสัมพันธ์กับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องและห้องเย็นที่อุณหภูมิ 8-10 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 12 เดือน ผลการทดลองพบว่า เมล็ดถั่วฝักยาวทั้ง 2 พันธุ์ที่ผลิตมีความงอกเฉลี่ย 95.13 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์แห้งที่ความชื้น 9-10 เปอร์เซ็นต์ไว้ในถุงพลาสติก ที่อุณหภูมิห้องและห้องเย็นยังคงมีความงอกสูงกว่า 87.75 เปอร์เซ็นต์ตลอดเวลาที่เก็บรักษา 9 เดือน และลดลงเหลือ 79.00 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเก็บรักษาเป็นเวลานาน 12 เดือน แต่ความแข็งแรงเริ่มลดลงเมื่ออายุการเก็บรักษาเพียง 3 เดือนการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้ในสภาพอุณหภูมิห้องและห้องเย็นนาน 12 เดือน มีความงอก ดัชนีความเร็วในการงอกและความยาวรากของต้นกล้าไม่แตกต่างกันทางสถิติ แต่เมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้ในห้องเย็นมีน้ำหนักแห้งและความยาวยอดของต้นกล้าสูงกว่าที่เก็บรักษาไว้ในสภาพ อุณหภูมิห้อง การเร่งอายุที่อุณหภูมิ 42 องศาเซลเซียส นาน 48 ชั่วโมง สามารถใช้เป็นวิธีการเร่งอายุเมล็ดพันธุ์ถั่วฟักยาวพันธุ์เมล็ดขาวและพันธุ์เจียไต๋เพื่อประเมินอายุการเก็บรักษาในเขตร้อนชื้นได้ เนื่องจากให้ค่าสหสัมพันธ์สูงของความงอกกับพันธุ์เมล็ดขาวเท่ากับ 0.877 และพันธุ์เจียไต๋เท่ากับ 0.899 รวมทั้งมีค่าสหสัมพันธ์สูงกับความ แข็งแรงของเมล็ดพันธุ์ที่เก็บรักษาในอุณหภูมิห้องอีกด้วย