บทคัดย่องานวิจัย

การเสื่อมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ในแปลงปลูกของถั่วเหลืองบางพันธุ์และผลของวิธีการลดความชื้นต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์

บงกช สงวนสัตย์

วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต. (เกษตรศาสตร์) พืชไร่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 110 หน้า.

2539

บทคัดย่อ

การเสื่อมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ในแปลงปลูกของถั่วเหลืองบางพันธุ์และผลของวิธีการลดความชื้นต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์  ศึกษาการเสื่อมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ในแปลงปลูกในถั่วเหลือง 4 พันธุ์ ได้แก่ กพส.292 นว.1 สจ.2 และ สจ.5 พบว่าการเก็บเกี่ยวที่ระยะแก่เต็มที่ (R8) (เมล็ดมีความชื้น 30-35 เปอร์เซ็นต์) ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีกว่าการเก็บเกี่ยวที่ระยะแก่เก็บเกี่ยว (HM) (เมล็ดมีความชื้น 12 - 14 เปอร์เซ็นต์ในการปลูกปลายฤดูฝน และ 18 - 22 เปอร์เซ็นต์ในการปลูกต้นฤดูฝน) การเก็บเกี่ยวล่าช้า (10 วัน หลังระยะ HM) ทำให้เมล็ดมีคุณภาพลดลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปลูกต้นฤดูฝน เมื่อเทียบกับการเก็บเกี่ยวที่ระยะ R8 และ HM ถั่วเหลืองพันธุ์ นว.1 เป็นพันธุ์ที่เมล็ดมีการเสื่อมคุณภาพ ในแปลงเร็วกว่าพันธุ์ สจ.2 และ สจ.5 จากการศึกษาอิทธิพลของวิธีการลดความชื้น พบว่า การลดความชื้นด้วยเครื่องอบที่อุณหภูมิ 39 องศาเซลเซียส (ความชื้นสัมพันธ์ 39-55 เปอร์เซ็นต์) ทำให้ได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี และใช้เวลาในการอบน้อยกว่าการลดความชื้นวิธีอื่น ขณะที่การลดความชื้นโดยวิธีตากบนถุงป่านบนลานซีเมนต์ให้คุณภาพเมล็ดพันธุ์ต่ำที่สุด พันธุ์ นว.1 และพันธุ์ กพส.292 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เมล็ดมีขนาดใหญ่ เมื่อผ่านการลดความชื้นด้วยความร้อนพบว่าทำให้เยื่อหุ้มเมล็ดแตกร้าวสูงขึ้น ในขณะที่พันธุ์ สจ.2 และ สจ.5 ไม่พบว่าการอบลดความชื้นด้วยวิธีการต่าง ๆ นี้มีผลต่อการแตกร้าวของเยื่อหุ้มเมล็ด