บทคัดย่องานวิจัย

วิธีการเร่งอายุเมล็ดเพื่อทำนายศักยภาพในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสง 4 พันธุ์

ทัศนีย์ จันทร์นุ่ม

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพืชไร่ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2545. 105 หน้า

2545

บทคัดย่อ

วิธีการเร่งอายุเมล็ดเพื่อทำนายศักยภาพในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสง 4 พันธุ์  อายุการเก็บรักษาของเมล็ดถั่วลิสงขึ้นกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวซึ่งเปลี่ยนแปลงในระหว่างปี และระหว่างพื้นที่ผลิต ดังนั้นการที่สามารถคาดคะเนถึงอายุการเก็บรักษาของเมล็ดจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวางแนวทางปฏิบัติ และจัดการกับเมล็ดพันธุ์ได้ การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงภายใต้สภาพการเร่งอายุและการเก็บรักษาในสภาพควบคุมและไม่ควบคุมสภาพแวดล้อม และนำข้อมูลมาหาความสัมพันธ์เพื่อทำนายอายุการเก็บรักษาของเมล็ดพันธุ์ โดยทำการทดลองกับเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงที่ผลิตจาก 2 ฤดูปลูกคือ ฤดูแล้งปี 2541 และฤดูฝนปี 2542 ประกอบด้วยพันธุ์ไทนาน 9 พันธุ์ขอนแก่น 4 พันธุ์ขอนแก่น 5 และพันธุ์ขอนแก่น 60-2 สุ่มเมล็ดในแต่ละพันธุ์เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกนำไปเร่งอายุที่อุณหภูมิ 42 °C ความชื้นสัมพัทธ์ 100% และส่วนที่เหลือเก็บรักษาในรูปทั้งฝักในห้องที่มีการควบคุมและไม่ควบคุมสภาพแวดล้อม สุ่มตัวอย่างเพื่อตรวจสอบความงอกในห้องปฏิบัติการ ความงอกในสภาพไร่ ความเร็วในการงอกของเมล็ด และค่าการนำไฟฟ้าของสารที่รั่วไหลออกจากเมล็ด ผลการทดลองพบว่า ความงอกในห้องปฏิบัติการและในสภาพไร่ รวมถึงความเร็วในการงอกของเมล็ดลดลง ในขณะที่ค่าการนำไฟฟ้าของสารที่รั่วไหลออกจากเมล็ดเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่นานขึ้น ภายหลังการเร่งอายุและการเก็บรักษาทั้งในสภาพที่ควบคุมและไม่ควบคุมสภาพแวดล้อม โดยเมล็ดที่ผลิตในช่วงฤดูแล้งจะเสื่อมคุณภาพเร็วกว่าเมล็ดที่ผลิตในช่วงฤดูฝน ซึ่งเมล็ดที่ผลิตในช่วงฤดูแล้งความงอกลดลงเหลือ 70% หลังจากเก็บรักษา 4 เดือนในห้องที่ควบคุม สภาพแวดล้อมและเก็บได้ 3 เดือนในห้องไม่ควบคุมสภาพแวดล้อม ในขณะที่เมล็ดที่ผลิตในช่วงฤดูฝนจะเก็บได้นานถึง 9 เดือนในห้องควบคุมสภาพแวดล้อม และ 7 เดือนในห้องที่ไม่ควบคุมสภาพแวดล้อม ซึ่งรูปแบบการเสื่อมคุณภาพของเมล็ดที่เก็บรักษาทั้ง 2 สภาพ และเมล็ดที่เร่งอายุจะมีลักษณะเหมือนกันเป็นแบบ Logistic ซึ่งอธิบายการเสื่อมคุณภาพเมล็ดดังกล่าวได้จากสมการ Logistic และค่าสัมประสิทธิ์การเสื่อมของเมล็ด โดยสัดส่วนของค่าสัมประสิทธิ์การเสื่อมของเมล็ดที่เก็บรักษากับเมล็ดที่เร่งอายุเท่ากับ 1:23.3 ซึ่งชี้ว่าการเร่งอายุเมล็ดเป็นวิธีที่นำไปประเมินความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงได้ และสามารถนำค่าสัมประสิทธิ์การเสื่อมของเมล็ดมาทำนายอายุการเก็บรักษาของเมล็ดพันธุ์ได้