บทคัดย่องานวิจัย

ผลของระยะเวลาปลูกที่มีต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์และระดับเอนไซม์ดีไฮโดรจิเนสในเมล็ดเขียวของถั่วเหลือง

เดชา แม้ประสาท

วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เกษตรศาสตร์ (สาขาวิชาพืชไร่)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2537. 87 หน้า.

2537

บทคัดย่อ

ผลของระยะเวลาปลูกที่มีต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์และระดับเอนไซม์ดีไฮโดรจิเนสในเมล็ดเขียวของถั่วเหลือง      การศึกษาอิทธิพลของวันปลูกที่มีต่อเปอร์เซ็นต์การเกิดเมล็ดเขียว เปอร์เซ็นต์ความงอก ความแข็งแรง ความมีชีวิตตลอดจนปริมาณเอนไซม์จำพวก dehydrogenase ของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองที่ปลูกในฤดูแล้งหลังการทำนาข้าว โดยศึกษาในถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 60 และพันธุ์ สจ.5 ที่ปลูกในวันปลูกเร็วกว่าวันปลูกปกติ (วันที่ 9 พฤศจิกายน) ปลูกในวันปลูกปกติ (วันที่ 5 มกราคม) ปลูกในวันปลูกที่ล่าออกไปจากวันปลูกปกติ (วันที่ 20 มกราคม) และปลูกใน growth chamber ที่ควบคุมอุณหภูมิในช่วงเมล็ดสุกแก่ 30 องศา/40 องศาเซลเซียส (กลางคืน/กลางวัน) และงดการให้น้ำ คัดแยกเมล็ดตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่มตามความแตกต่างของสีเมล็ด ได้แก่ ถั่วเหลืองเมล็ดสีเหลืองปกติและถั่วเหลืองเมล็ดเขียว บันทึกเปอร์เซ็นต์การเกิดเมล็ดเขียว ตรวจสอบความงอก มาตรฐาน น้ำหนัก 100 เมล็ด ความมีชีวิตด้วยวิธี TZ test และหาปริมาณของเอนไซม์จำพวก dehydrogenase ด้วยวิธีการ formazan extraction ผลการศึกษาพบว่า อิทธิพลของวันปลูกเร็วส่งผลให้คุณภาพเมล็ดโดยรวมดีกว่าวันปลูกปกติ วันปลูกล่าและปลูกใน growth chamber โดยวันปลูกเร็วจะมีเปอร์เซ็นต์ความงอกเฉลี่ยสูงสุดทั้งในเมล็ดเหลือง (95.8%) และในเมล็ดเขียว (56.5%) และวันปลูกเร็วกับวันปลูกล่า จะพบเปอร์เซ็นต์เมล็ดเขียวที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับวันปลูกปกติ คือ 1.24% 4.08% และ 21.54% ตามลำดับ วันปลูกเร็วและวันปลูกปกติ พบว่า เปอร์เซ็นต์ความมีชีวิตเฉลี่ยและค่า optical density ของสาร formazan ของถั่วเหลืองทั้งสองพันธุ์สูงที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่า เมล็ดเหลืองจะมีคุณภาพสูงกว่าเมล็ดสีเขียวโดยเห็นจากเปอร์เซ็นต์ความงอก ความมีชีวิต น้ำหนัก 100 เมล็ดของเมล็ดเหลืองสูงกว่าเมล็ดเขียวและยังพบอีกว่า วิธี formazan extraction กับเปอร์เซ็นต์ความมีชีวิตของเมล็ดพันธุ์มีความสัมพันธ์กันอย่างสูงในทางบวก ดังนั้นวิธีการนี้จึงสามารถใช้ประเมินระดับความมีชีวิต และใช้วัดปริมาณของเอนไซม์ dehydrogenase ในเมล็ดพันธุ์ ถั่วเหลืองได้