บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการคัดเมล็ดต่อการเกิดโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ และรูปแบบต่างๆ ของเชื้อรา Macrophomina phaseolina ที่ติดมากับเมล็ดถั่วเหลืองพันธุ์ มข. 35

จินตนา สุมขุนทด

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโรคพืชวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2543. 79 หน้า.

2543

บทคัดย่อ

ผลของการคัดเมล็ดต่อการเกิดโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ และรูปแบบต่างๆ ของเชื้อรา Macrophomina phaseolina ที่ติดมากับเมล็ดถั่วเหลืองพันธุ์ มข 35  ทำการเปรียบเทียบเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองพันธุ์ มข 35 ก่อนการคัดเมล็ดและหลังการคัดเมล็ดจากเกษตรกร 8 รายที่บ้านผาน้ำเที่ยง ตำบลบริบูรณ์ อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น โดยวิธีการตรวจเมล็ดโดยตรง (dry seed examination) และวิธีวางเมล็ดบนกระดาษเพาะชื้น (blotter method) ในการตรวจเมล็ดโดยตรงสามารถแยกเมล็ดผิดปกติออกได้ 3 ชนิด คือ เมล็ดเสีย เมล็ดสีม่วง และเมล็ดสีดำ ความเสียหายทั้งหมดของเมล็ดก่อนการคัดเมล็ดและหลังการคัดเมล็ดคิดเป็น 11.83 เปอร์เซ็นต์ และ 5.45 เปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนักตามลำดับ ในขณะเดียวกันคือเป็น 20.72 เปอร์เซ็นต์ และ 5.39 เปอร์เซ็นต์ โดยจำนวนเมล็ดตามลำดับ เมื่อนำเอาเมล็ดที่ไม่แสดงอาการผิดปกติและที่ผ่านการตรวจเมล็ดโดยตรงแล้วมาตรวจโดยวิธีวางเมล็ดบนกระดาษเพาะชื้นพร้อมทั้งทำการวิเคราะห์ทางสถิติแบบ completely randomized design ด้วย 2 วิธีการและ 8 ซ้ำ พบเชื้อราที่สำคัญในแปลงปลูก 4 ชนิดคือ Fusarium spp. Cercospora kikuchii, Phomopsis spp., และ Macrophomina phaseolina และเชื้อราที่สำคัญในโรงเก็บ 3 ชนิด คือ Aspergillus flavus, Aspergillus niger และ Penicillium spp. ที่เจริญบนเมล็ดก่อนการคัดเมล็ดและหลังการคัดเมล็ดไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เฉพาะการติดมาของเชื้อรา Fusarium spp. เท่านั้นที่มีความสัมพันธ์แบบตรงข้ามกับเปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ด จากการทำการตรวจสอบโดยวิธีการวางเมล็ดบนกระดาษเพาะชื้น พบว่ามีการติดมาของเชื้อรา M. phaseolina กับทุกตัวอย่างเมล็ดที่ทดสอบ และเปอร์เซ็นต์การติดมากับเมล็ดเฉลี่ย 3.84 เปอร์เซ็นต์เท่ากันระหว่างเมล็ดปกติที่นำมาจากเมล็ดก่อนการคัดเมล็ด (A2) และหลังการคัดเมล็ด (B2) เมื่อทำการแยกเชื้อราชนิดนี้จำนวน 11 ไอโซเลตจากแต่ละตัวอย่าง พบว่ามีเพียงสิบไอโซเลตเท่านั้นที่สร้าง pycnidia บนใบถั่วเหลืองที่นึ่งฆ่าเชื้อที่วางบนอาหาร water agar ความเข้มข้น 1.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อนำทุกไอโซเลตมาทำการทดสอบความสามารถในการทำให้เกิดโรคโดยวิธี toothpick ในสภาพห้องปฏิบัติการกับพืชทดสอบต่างๆ 8 ชนิด ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วพุ่ม งา แตงแคนตาลูป แตงกวา ข้าวโพด และมะเขือเทศ พบว่า ทุกไอโซเลตสามารถเจริญบนลำต้นถั่วเหลืองและสร้าง pycnidia แต่ไม่สามารถเจริญบนลำต้นของข้าวโพดและมะเขือเทศ และเมื่อนำเชื้อราชนิดนี้ทั้งหมด 11 ไอโซเลตมาศึกษาแยกกลุ่มรูปแบบต่างๆ ตามความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ พบว่า การจัดกลุ่มตามลักษณะสัณฐานวิทยาของเชื้อรานี้ที่เจริญบนอาหาร potato dextrose agar (PDA), PDA ผสม streptomycin, difco lima bean agar (LBA) และ LBA ผสม potassium chlorate สามารถแบ่งได้ 8 กลุ่ม หากแยกการเจริญเติบโตของเชื้อรานี้บนอาหารแต่ละชนิดสามารถแยกได้ 6 กลุ่มบนอาหาร PDA และ PDA ผสม streptomycin และแยกได้ 7 กลุ่ม บนอาหาร LBA และ LBA ผสม potassium chlorate ส่วนปฏิกิริยาของเชื้อราบนอาหาร PDA ผสมสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา mancozeb, benomyl และ carboxin ในความเข้มข้นต่างๆ นั้นพบว่าไม่สามารถนำการเจริญของเชื้อราบนอาหาร PDA ที่ผสม mancozeb ใช้เป็นเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่มเชื้อราชนิดนี้เพราะเชื้อราไม่สามารถเจริญเติบโต ส่วนการเจริญของเชื้อราบนอาหาร PDA ผสม benomyl เป็นเกณฑ์ในการจัดกลุ่มที่ไม่ดีเช่นกัน เพราะมีเพียง 4 ไอโซเลตเท่านั้นที่สามารถเจริญได้ในระดับความเข้มข้นที่ต่ำ (187.5 ppm. และ 375 ppm.) ในทางตรงข้ามเชื้อราเกือบทุกไอโซเลตสามารถเจริญบนอาหาร PDA ผสม carboxin ในทุกระดับความเข้มข้น และสามารถนำความเข้มข้นที่ระดับ 187.5 ppm. และ 1,500 ppm. มาเป็นเกณฑ์ในการจัดกลุ่มซึ่งสามารถแบ่งเชื้อราออกเป็น 7 กลุ่มและ 4 กลุ่ม ตามลำดับ ส่วนการจัดกลุ่มโดยใช้รูปแบบการกระจายตัวของโปรตีนสามารถจัดกลุ่มของเชื้อราได้ 6 กลุ่ม