บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาการอบแห้งข้าวเปลือกโดยวิธีฟลูอิดไดซ์เบดอย่างต่อเนื่อง

อรอนงค์ ศรีพวาทกุล

วิทยานิพนธ์ (วศ.ม. วิศวกรรมอาหาร) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2536. 102 หน้า.

2536

บทคัดย่อ

การศึกษาการอบแห้งข้าวเปลือกโดยวิธีฟลูอิดไดซ์เบดอย่างต่อเนื่อง  งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการศึกษาความเป็นไปได้ของการอบแห้งข้าวเปลือกที่ช่วงความชื้นสูงโดยวิธีฟลูอิดไดซ์เบดอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาตัวแปรต่างๆ ที่มีผลต่ออัตราการผลิต ความสิ้นเปลืองพลังงาน และคุณภาพของข้าวเปลือก และพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อทำนายอัตราการอบแห้ง การใช้พลังงาน จากการทดลองที่อุณหภูมิของอากาศ 115 องศาเซลเซียส เป็นอุณหภูมิสูงสุดที่ข้าวเปลือกยังคงมีคุณภาพดีอยู่ และความชื้นเริ่มต้นของข้าวเปลือก 30% มาตรฐานแห้งพบว่า อัตราการอบแห้งข้าวเปลือกขึ้นอยู่กับอัตราการไหลของอากาศจำเพาะ (อัตราส่วนระหว่างอัตราการไหลของอากาศจำเพาะต่อมวลแห้งของ hold up ของข้าวเปลือก) และอุณหภูมิของอากาศที่อัตราการไหลของอากาศจำเพาะต่ำจะสิ้นเปลืองพลังงานต่ำ ที่อัตราการหมุนเวียนอากาศกลับและความสูงของชั้นข้าวเปลือกเพิ่มขึ้นจะทำให้สิ้นเปลืองพลังงานต่ำลง ไม่ควรอบแห้งข้าวเปลือกให้มีชื้นต่ำกว่า 22% มาตรฐานแห้งเนื่องจากจะทำให้ข้าวหลังการสีมีคุณภาพ ต่ำ แบบจำลองทางคณิตศาสตร์สามารถทำนายอัตราการอบแห้ง และพลังงานได้ดีพอสมควร การศึกษาหาแนวทางการอบแห้งที่เหมาะสม โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์โดยมีตัวแปรที่ทำการศึกษาคือ ความสูง weir อัตราการไหลจำเพาะของอากาศ และอัตราการหมุนเวียนกลับ โดยใช้อุณหภูมิในการอบแห้ง 115 องศาเซลเซียส พบว่า จุดที่เหมาะสมในการอบแห้งคือ ที่ความสูงของ weir 10 cm อัตราการไหลของอากาศจำเพาะ 0.043 kg/s-kg dry matter อัตราการหมุนเวียนกลับของอากาศ 80% จะทำให้สิ้นเปลืองพลังงานปฐมภูมิ 7.9 MJ/kg-water แบ่งเป็นพลังงานไฟฟ้า 2.46 MJ/kg-water และพลังงานความร้อน 5.44 MJ/kg-water มีค่าใช้จ่ายในการอบแห้ง ในกรณีที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง 2.06 บาท/kg water ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 1.07 บาท/kg water ในกรณีที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง 2.60 บาท/kg water แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างเครื่อง 0.99 บาท/kg water ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 1.61 บาท/kg water