บทคัดย่องานวิจัย

การอบแห้งเมล็ดข้าวโพดแบบในถังเก็บภายใต้สภาวะอากาศร้อนชื้น

ไพโรจน์ วงศ์วิโรจน์ธนา

วิทยานิพนธ์ (วศ.ม. วิศวกรรมเคมี) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2536. 130 หน้า.

2536

บทคัดย่อ

การอบแห้งเมล็ดข้าวโพดแบบในถังเก็บภายใต้สภาวะอากาศร้อนชื้น  วิทยานิพนธ์นี้เป็นการศึกษาการอบแห้งเมล็ดข้าวโพดแบบในถังเก็บภายใต้สภาวะอากาศร้อนชื้น เช่นในกรุงเทพฯ โดยได้ทำการทดลองอบแห้งเมล็ดข้าวโพดภายในถังอบแห้งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.75 เมตร สูง 2.75 เมตร ใช้ชั้นความสูงของชั้นข้าวโพด 1.4 เมตร และเป่าอากาศที่อุณหภูมิแวดล้อมที่อัตราการไหลของอากาศระหว่าง 1.5-4.5 ลูกบาศก์เมตรต่อนาทีต่อลูกบาศก์เมตรข้าวโพด โดยแบ่งวิธีการอบแห้งเป็นสองแบบคือ การเป่าอากาศอย่างต่อเนื่อง และไม่ต่อเนื่องโดยปิดพัดลมในเวลากลางคืนเมื่อความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศสูงเกิน 80% จากผลการทดลองพบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะใช้เทคนิคการอบแห้งแบบในถังเก็บสำหรับอบแห้งข้าวโพดโดยเมล็ดข้าวโพด หลังการอบแห้งยังอยู่ในเกณฑ์ดี (มีเกรเดียนท์ความชื้นต่ำ และมีปริมาณแอฟลาทอกซินหลังการอบแห้งที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณแอฟลาทอกซินก่อนการอบแห้งต่ำ) อัตราการไหลของอากาศที่ใช้ควรอยู่ระหว่าง 2.0-2.5 ลูกบาศก์เมตรต่อนาทีต่อลูกบาศก์เมตรข้าวโพด และความชื้นเริ่มต้นไม่ควรเกิน 19% มาตรฐานเปียก โดยการอบแห้งแบบไม่ต่อเนื่องจะสิ้นเปลืองพลังงานจำเพาะต่ำกว่าการอบแห้งแบบต่อเนื่อง จากการปรับปรุงแบบจำลองทางคณิตศาสตร์แบบใกล้สมดุลของ Soponronnarit [1] โดยรวมผลของความร้อนและน้ำที่เกิดขึ้นเมื่อมีการสูญเสียมวลแห้ง และเพิ่มแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของการเพิ่มขึ้นของแอฟลาทอกซินลงในแบบจำลองการอบแห้งด้วย พบว่า แบบจำลองทางคณิตศาสตร์สามารถทำนายความชื้นและอุณหภูมิได้ใกล้เคียงกับผลการทดลองพอสมควร โดยเฉพาะที่บริเวณชั้นล่างของชั้นข้าวโพด ในกรณีที่มีความชื้นเริ่มต้นสูงแบบจำลองจะทำนายได้ดีขึ้นเมื่อรวมผลของความร้อนและน้ำที่เกิดขึ้นจากการหายใจของเมล็ดข้าวโพดลงในแบบจำลองด้วย จากการที่แบบจำลองสามารถทำนายผลการทดลองได้ดีพอสมควร ดังนั้นจึงได้ใช้แบบจำลองที่ปรับปรุงขึ้นนี้ในการสร้างแผนภูมิสำหรับช่วยในการออกแบบระบบการอบแห้งข้าวโพดแบบในถังเก็บ โดยกำหนดให้มีมวลแห้งที่สูญเสียเท่ากับ 0.5% ปริมาณแอฟลาทอกซินไม่เกิน 50 ppb และความชื้นสุดท้ายเท่ากับ 14% มาตรฐานเปียก โดยในแผนภูมิจะสามารถกำหนดพารามิเตอร์ของการออกแบบและการดำเนินการอบแห้ง เช่น ความชื้นเริ่มต้น ความสูงของชั้นข้าวโพด อัตราการไหลของอากาศ เป็นต้น