บทคัดย่องานวิจัย

ผลของวิธีการลดความชื้นก่อนการเก็บเกี่ยวต่อคุณภาพของเมล็ดข้าวต้นฝน

เยาวเรศ ไชยกันทา

รายงานการวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่, 2542. 30 หน้า

2542

บทคัดย่อ

ผลของวิธีการลดความชื้นก่อนการเก็บเกี่ยวต่อคุณภาพของเมล็ดข้าวต้นฝน วิธีการลดความชื้นก่อนการเก็บเกี่ยวต่อคุณภาพเมล็ดข้าวต้นฝนเพื่อลดการสูญเสียคุณภาพของเมล็ดเนื่องจากความชื้นสูง ได้ทำการทดลองที่แปลงนาทดลองอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม 2540 วางแผนการทดลองแบบ Split-split plot Design จำนวน 4 ซ้ำ กำหนดให้ main plot คือพันธุ์สุพรรณบุรี 60 และกข. 10 และ Sub plot คือ 1. วิธีจัดการเก็บเกี่ยวโดยเก็บเกี่ยวข้าวที่ระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยาแล้วนวดและตากในร่ม 2. ปล่อยให้ข้าวแห้งในแปลงจนถึงระยะเก็บเกี่ยว 3. พ่นสารไดเมทธิพิน 500 มิลลิลิตรต่อเฮกตาร์เพื่อใช้เป็นสารลดความชื้นที่ระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยา และ 4. พ่นสารไดเมทธิพิน 750 มิลลิลิตรต่อเฮกตาร์เพื่อใช้เป็นสารลดความชื้นที่ระยะสุกแก่ทางสรีระวิทยาและ sub-sub plot คือ เก็บเกี่ยวทุก 2 วัน หลังดอกบาน 50 เปอร์เซ็นต์ จนกระทั่งเมล็ดมีความชื้น 14 เปอร์เซ็นต์ จากผลการศึกษาพบว่าด้านความรวดเร็วของการลดความชื้นของเมล็ดข้าวจากระยะสุกแก่ทางสรีระสู่ระดับความชื้น 14 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับความชื้นขั้นต่ำที่เหมาะสมในการสีข้าวนั้นการลดความชื้นโดยการพ่นสารไดเมทธิพิน 750 มิลลิลิตรต่อเฮกตาร์ที่ระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยาเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดโดยที่วิธีนี้ใช้ระยะเวลาในการลดความชื้นเพียง 4.25 วันในพันธุ์สุพรรณบุรี 60 และ 4 วันในพันธุ์กข. 10 รองลงมาคือได้แก่กรรมวิธีการพ่นไดเมทธิพิน 500 มิลลิลิตรต่อเฮกตาร์ที่ระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยา ส่วนกรรมวิธีอื่นๆ ใช้ระยะเวลานานกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ในด้านคุณภาพการสีข้าวหลังจากจัดกรรมวิธีพบว่า กรรมวิธีการเก็บเกี่ยวที่ระยะสุกแก่สรีรวิทยาแล้วนวดและตากในร่มให้เปอร์เซ็นต์ข้าวสูงถึง 71.70 ในพันธุ์สุพรรณบุรี 60 และ 68.43 ในพันธุ์กข. 10 ในส่วนเปอร์เซ็นต์ปลายข้าวพบว่าให้เปอร์เซ็นต์ปลายข้าว 2 พันธุ์ต่ำคือ 28.30 เปอร์เซ็นต์ในพันธุ์สุพรรณบุรี 60 และ 31.57 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์กข. 10 และยังพบอีกว่ากรรมวิธีดังกล่าวนี้ให้เปอร์เซ็นต์การร้าวต่ำกรรมวิธีอื่นๆ กล่าวคือ 5.75 เปอร์เซ็นต์ ในพันธุ์สุพรรณบุรี 60 และ 4.81ในพันธุ์กข. 10