บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาศักยภาพการเก็บรักษาข้าวเปลือกระยะยาวของกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร

ดาเรศร์ กิตติโยภาส

รายงานโครงการวิจัย รหัสโครงการ : RDG4420029 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2543. 134 หน้า

2543

บทคัดย่อ

การศึกษาศักยภาพการเก็บรักษาข้าวเปลือกระยะยาวของกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

 

ในช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกของทุกปี ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกจะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากและด้วยเหตุผลหลายประการทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมขายข้าวทันทีหลังจากเก็บเกี่ยว และเนื่องจากการขายข้าวในช่วงเวลาที่ผลผลิตล้นตลาดนี้เองเป็นผลให้ได้รับราคาที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งในความเป็นจริงราคาข้าวเปลือกจะขยับตัวสูงขึ้นเมื่อฤดูการเก็บเกี่ยวผ่านไปได้ระยะหนึ่ง สถานการณ์ดังกล่าวทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หายุทธวิธีหลายอย่างมาสนับสนุนให้เกษตรกรมีโอกาสเก็บข้าวเปลือกไว้ระยะหนึ่งเพื่อรอไว้ขายเมื่อราคาขยับสูงขึ้นแล้ว อันได้แก่ โครงการสร้างฉางเก็บข้าวเปลือกของกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร โดยสนับสนุนการสร้างฉางเก็บข้าวเปลือกและลานตากข้าวเปลือกและโครงการเก็บข้าวเปลือกของกลุ่มเกษตรกร เป็นโครงการที่ให้กลุ่มเกษตรกรกู้ยืมเงินในวงเงินกลุ่มละ 500,000 บาท โดยไม่มีดอกเบี้ยเพื่อรับซื้อข้าวจากสมาชิกเพื่อชลอการขายในช่วงเวลาที่ราคาต่ำ

โครงการศึกษาศักยภาพการเก็บข้าวเปลือกระยะยาวของกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร มีเป้าหมายเพื่อประเมินสถานภาพการณ์เก็บข้าวเปลือกระยะยาวของกลุ่มเกษตรและสหกรณ์การเกษตรวิเคราะห์หาสาเหตุที่จำกัดความสามารถในการเก็บข้าวเปลือกระยะยาว และสำรวจความต้องการความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีเพิ่มเติมจากรัฐบาล โดยการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ประโยชน์จากฉางกับกลุ่มเกษตรจำนวน 111 แห่ง และสหกรณ์การเกษตรจำนวน 32 แห่ง ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในปี 2536 และ 2537 ซึ่งจากผลการศึกษาวิจัยพบว่ากลุ่มเกษตรเพียง ร้อยละ 55.9 ที่มีการใช้ประโยชน์จากฉางประจำ ในขณะที่สหกรณ์การเกษตรมีการใช้ประโยชน์จากฉางเป็นประจำถึง ร้อยละ 90.6 จากการวิเคราะห์พบว่าเนื่องจากสหกรณฃ์การเกษตรมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการใช้งานตลอดจนการดำเนินกิจกรรมแตกต่างจากกลุ่มเกษตรกรอยู่หลายประการ เช่น เงินทุนหมุนเวียน โรงสี รถบรรทุก เครื่องชั่ง การรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น ส่วนปัญหาและข้อจำกัดที่วิเคราะห์จากข้อมูลการสำรวจแสดงให้เห็นชัดว่ากลุ่มเกษตรกรเป็นส่วนที่ต้องให้ความสำคัญในการพิจารณาเสริมความช่วยเหลือจากภาครัฐ ปัญหาและข้อจำกัดที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินกิจการเก็บข้าวเปลือกระยะยาวของกลุ่มเกษตรกร คือ

ด้านเงินทุน สภาพการเงินของกลุ่มเกษตรกรในปัจจุบัน เงินทุนเป็นองค์ประกอบหลักที่จะส่งผลให้กิจการเก็บข้าวเปลือกระยะยาวมีความเป็นไปได้ และเงินทุนหลักในการดำเนินกิจการค้าข้าวเปลือกจากเงินกู้ตามโครงการเก็บข้าวเปลือกของกลุ่มเกษตรกร แต่กลุ่มเกษตรกรร้อยละ 98.4 ได้รับเงินกู้ตามโครงการเก็บข้าวเปลือกไม่ทันต่อความต้องการเนื่องจากขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติตามระบบราชการ

ด้านเทคนิค กลุ่มเกษตรกรประมาณร้อยละ 50 ยังขาดเทคโนโลยีวิทยาการในการแก้ไขปัญหาคุณภาพข้าวทั้งก่อนและหลังการเก็บรักษา ส่วนเทคโนโลยีวิทยาการเก็บรักษา นั้น กลุ่มเกษตร ร้อยละ 58.6 และสหกรณ์การเกษตร ร้อยละ 50 ประสบปัญหาที่ไม่ทราบถึงวิธีและอุปกรณ์แก้ไขปัญหา

ด้านการจัดการ กลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่ (ร้อยละ 88.3)เพิ่งจะเริ่มดำเนินธุรกิจค้าข้าวในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี และมีปริมาณข้าวในระบบการซื้อขายเพียงไม่เกิน 100 ตันต่อกลุ่มต่อปี เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรไม่มีความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจและ/ หรือขาดอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับฉาง อีกทั้งระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจไม่เพียงพอเช่น ระบบโทรศัพท์ อาคารสำนักงาน เป็นต้น

จากข้อมูลปัญหาการเก็บรักษาข้าวเปลือกระยะยาวของกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร พบว่ามีความจำเป็นต้องเสริมความช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยเฉพาะจากหน่วยงานที่รับผิดชอบให้การสนับสนุนฉาง ในหลายๆ ด้าน ดังนี้

ด้านธุรกิจและการจัดการ ควรมีการเสริมการให้ความรู้อย่างจริงจังในลักษณะให้การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติ เพื่อเสริมความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจให้แก่กลุ่มเกษตรกร

ด้านเทคโนโลยีวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว การให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวรวมถึงการสนับสนุนอุปกรณ์เสริมประสิทธิภาพทางการทำงานของฉาง เช่น ระบบระบายอากาศในที่เก็บ

ด้านนโยบาย การผลักดันให้เงินกู้ตามโครงการเก็บข้าวเปลือกของกลุ่มเกษตรกรถึงมือเกษตรกรอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับความต้องการ