บทคัดย่องานวิจัย

ผลการใช้อุณหภูมิสูงและการฉายรังสีอัตราไวโอเลตต่อการเกิดโรคแอนแทรคโนสและคุณภาพมะม่วงหลังการเก็บเกี่ยว

ศิริศักดิ์ บุตรกระจ่าง

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2537. 140 หน้า.

2537

บทคัดย่อ

ผลการใช้อุณหภูมิสูงและการฉายรังสีอัตราไวโอเลต ต่อการเกิดโรคแอนแทรคโนส  จากการศึกษาการใช้อุณหภูมิสูง และการฉายรังสีอัลตราไวโอเลต เพื่อควบคุมโรคแอนแทรคโนส และผลกระทบต่อคุณภาพของผลมะม่วงหลังการเก็บเกี่ยว พบว่า การให้อุณหภูมิสูง โดยการอบด้วยอากาศร้อนที่อุณหภูมิ 50 ° ซ ความชื้นสัมพัทธ์ 28 –37 เปอร์เซ็นต์ และ 60 ° ซ ความชื้นสัมพัทธ์ 18 – 23 เปอร์เซ็นต์ มีผลในการเร่งการสุก และการสูญเสียน้ำหนัก นอกเหนือจากนี้ยังเกิดอาการผิดปกติ โดยปรากฎเส้น vein สีดำในส่วนของเนื้อผล และเกิดความเสียหายของเลนติเซล เป็นจุดสีดำเด่นชัดขึ้นระหว่างการเก็บรักษา การใช้อากาศร้อนไม่สามารถชะลอการเกิดโรคของผลมะม่วง ซึ่งในการทดลองนี้ไม่มีการปลูกเชื้อโรค

ส่วนการใช้อุณหภูมิสูงกับผลมะม่วงที่ได้ผ่านการปลูกเชื้อ Colletotrichum gloeosporioides โดยการแช่ในน้ำร้อนอุณหภูมิ65 และ 70 ° C เป็นเวลา 5 วินาที สามารถชะลอการขยายขนาดของแผลที่เกิดจากการปลูกเชื้อ โดยเปรียบเทียบกับการแช่น้ำร้อนก่อนการปลูกเชื้อและการไม่แช่น้ำร้อนในชุดควบคุม การใช้น้ำร้อนแช่ผลมะม่วงที่อุณหภูมิ 75 ° C นาน 5 วินาที ทำให้เกิดอาการผิดปกติของการปลูก และการพัฒนาของสีผิวระหว่างการเก็บรักษา

การฉายรังสีอัลตราไวโอเลตในระดับพลังงาน 4.7 x 102 ถึง 1.4 x 104 จูลต่อตารางเมตร ก่อนการปลูกเชื้อโรค ให้ผลในการควบคุมการเกิดโรคได้ดีว่า การฉายรังสีหลังการปลูกเชื้อ และการไม่ฉายรังสี ในชุดควบคุม โดยสามารถจำกัดการขยายขนาดของแผลบนผิวผล และลดเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคเน่า พลังงานในช่วง 1.4 x 103 จูลต่อตารางเมตร ถึง 2.4 x 103 จูลต่อตารางเมตร ให้ประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมโรค แต่เมื่อพลังงานสูงกว่า 2.4 x 103จูลต่อตารางเมตร ทำให้เกิดอาการไหม้ที่ผิวผลมะม่วงในระหว่างการเก็บรักษา