บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสารเคลือบผิวที่บริโภคได้ต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวย

ชินพันธ์ หาภา

วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เกษตรศาสตร์ (สาขาวิชาพืชสวน)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2539. 145 หน้า.

2539

บทคัดย่อ

ผลของสารเคลือบผิวที่บริโภคได้ต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวย การศึกษาผลของสารเคลือบผิวที่บริโภคได้ต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวย ได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 เป็นการศึกษาหาชนิดของสารเคลือบผิวที่บริโภคได้ที่เหมาะสมต่อการยืดอายุการเก็บรักษาผลลิ้นจี่ โดยใช้สารละลายแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวโพด แป้งแอโรว์รูท แป้งถั่วเขียว แป้งมันสำปะหลัง ความเข้มข้น 3 เปอร์เซ็นต์ สารละลายวุ้นเจลาติน อะคาเซียกัม และแซนแธนกัม ความเข้มข้น 1, 2, 6 และ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ สารละลายทุกชนิดยกเว้นแซนแธนกัมผ่านการต้มจนเดือดและปล่อยทิ้งไว้ให้มีอุณหภูมิประมาณ 40 องศาเซลเซียส ก่อนนำไปใช้เคลือบผิวผลลิ้นจี่โดยวิธีการจุ่ม นอกจากนี้ยังเคลือบผิวลิ้นจี่ด้วยน้ำมันข้าวโพด น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลืองผสมน้ำมันปาล์ม และน้ำมันถั่วลิสง โดยหยดน้ำมันจำนวน 3 หยด ลงบนผิวผลลิ้นจี่แล้วใช้แปรงขนสัตว์ค่อยๆ ทาจนทั่วผิว เปรียบเทียบกับการห่อผลลิ้นจี่ด้วยพลาสติกโพลีไวนิลคลอไรด์ ผลการทดลองพบว่า ผลลิ้นจี่ที่เคลือบผิวด้วยน้ำมันถั่วลิสงมีอายุการเก็บรักษาได้นาน 7.2 วัน รองลงมาคือผลลิ้นจี่ที่เคลือบผิวด้วยน้ำมันถั่วเหลืองผสมน้ำมันปาล์ม สารละลายแป้งข้าวเจ้า แป้งถั่วเขียว และแป้งข้าวโพด มีอายุการเก็บรักษาได้นาน 6.7, 6.5 และ 5 วัน ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับผลลิ้นจี่ที่ไม่ได้เคลือบผิว ซึ่งเก็บรักษาได้เพียง 3.5 วัน ตลอดระยะเวลาการทดลอง ผลลิ้นจี่ที่เคลือบผิวด้วยน้ำมันถั่วเหลืองผสมน้ำมันปาล์มมีการสูญเสียน้ำหนักสดน้อยที่สุดคือ 12.13 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือผลลิ้นจี่ที่เคลือบผิวด้วยน้ำมันถั่วลิสงและสารละลายแป้งถั่วเขียว 3 เปอร์เซ็นต์ มีการสูญเสียน้ำหนักสด 13.36 และ 13.38 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนผลลิ้นจี่ที่ไม่ได้เคลือบผิวมีการสูญเสียน้ำหนักสดมากที่สุด คือ 17.82 เปอร์เซ็นต์ สำหรับสารละลายแซนแธนกัมและอะคาเซียกัม เมื่อเคลือบผิวผลลิ้นจี่แล้วมีลักษณะเหนียว ส่วนสารละลายวุ้นและเจลาตินไม่เหมาะสมในการเคลือบผิว เนื่องจากเมื่อเคลือบผิวแล้วสารเคลือบผิวจะแตกและหลุดลอกออกเป็นแผ่น ตอนที่ 2 เป็นการศึกษาสารเคลือบผิวผลลิ้นจี่ที่ให้ผลดีในการทดลองตอนที่ 1 มาทดลองเพื่อหาความเข้มข้นที่เหมาะสมต่อคุณภาพหลังการเก็บรักษา การยืดอายุการเก็บรักษา และการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบทางเคมีของผลลิ้นจี่ โดยใช้สารละลายแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวโพด และแป้งถั่วเขียว ที่ระดับความเข้มข้น 1.5, 3.0 และ 4.5 เปอร์เซ็นต์ และสารละลายผสมของน้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันถั่วลิสง ที่ระดับความเข้มข้นของน้ำมัน 5 และ 10 เปอร์เซ็นต์ รวมกับสารละลายแป้งที่ความเข้มข้น 3.0 และ 4.5 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกับสารละลายผสมของน้ำมันและสารละลายแห้งที่มีการเติมวิตามินซี หรือวิตามินอี ความเข้มข้น 3 เปอร์เซ็นต์ลงไปด้วย และใช้อะกรัล (Agral) ความเข้มข้น 0.01 เปอร์เซ็นต์ เป็นอีมัลซิไฟอิ้ง เอเจนต์ นำผลลิ้นจี่ที่ผ่านการเคลือบผิวแล้วไปเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้องและที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ผลการทดลองพบว่าสารเคลือบผิวผลลิ้นจี่ชนิดต่างๆ และอุณหภูมิมีผลต่อการยืดอายุการเก็บรักษาผลลิ้นจี่คือ ผลลิ้นจี่ที่เคลือบผิวด้วยสารละลายแป้งถั่วเขียว 3 เปอร์เซ็นต์ผสมกับน้ำมันถั่วลิสง 5 เปอร์เซ็นต์และวิตามินซี 3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส มีอายุการเก็บรักษาได้นานที่สุดคือ 17.2 วัน มีการสูญเสียน้ำหนักสด 3.29 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือผลลิ้นจี่ที่เคลือบผิวผลด้วยสารละลายแป้งถั่วเขียว 3 เปอร์เซ็นต์ผสมกับน้ำมันถั่วลิสง 5 เปอร์เซ็นต์ และวิตามินอี 3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส มีอายุการเก็บรักษา 13.5 วัน มีการสูญเสียน้ำหนักสด 4.07 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผลลิ้นจี่ที่ไม่ได้เคลือบผิวเมื่อเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียสมีอายุการเก็บรักษา 6.7 วัน มีการสูญเสียน้ำหนักสด 5.94เปอร์เซ็นต์ และเมื่อเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้อง มีอายุการเก็บรักษาสั้นที่สุดคือ 3 วัน มีการสูญเสียน้ำหนักสดมากที่สุดคือ 12.79 เปอร์เซ็นต์ ผลลิ้นจี่ที่เก็บรักษาไว้นานมีการสูญเสียน้ำหนักเพิ่มขึ้น เปลือกของผลลิ้นจี่มีปริมาณแอนโธไซยานินลดลง เนื้อลิ้นจี่มีปริมาณกรดทั้งหมดลดลง ส่วนปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำและปริมาณวิตามินซีมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก