บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการใช้ความร้อนและสารละลายแคลเซียมต่ออาการสะท้านหนาวในพริกหวาน

เพชรดา อยู่สุข

วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เกษตรศาสตร์ (สาขาวิชาพืชสวน)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2540. 118 หน้า.

2540

บทคัดย่อ

ผลของการใช้ความร้อนและสารละลายแคลเซียมต่ออาการสะท้านหนาวในพริกหวาน    การศึกษาผลของการใช้ความร้อนและสารละลายแคลเซียมต่ออาการสะท้านหนาวในพริกหวาน โดยให้พริกหวานได้รับอากาศร้อนอุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส นาน 30 หรือ 45 นาที หรือการแช่พริกหวานในสารละลายแคลเซียมคลอไรด์ แคลเซียมไนเตรด และแคลเซียม อีดี ทีเอ เข้มข้น 2 หรือ 4 เปอร์เซ็นต์ นาน 30 นาที ก่อนเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 0, 3, 6 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิห้อง ผลการทดลองปรากฏว่าอุณหภูมิในการเก็บรักษามีผลกระทบต่อการสูญเสียน้ำหนักของพริกหวาน และแสดงอาการสะท้านหนาวเมื่อเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำกว่า 6 องศาเซลเซียส ลักษณะอาการที่ปรากฏ คือ เนื้อเยื่อเกิดการยุบตัวและมีอาการช้ำน้ำ การรั่วไหลของสารอีเลคโตรไลท์ไม่สามารถบ่งชี้ความรุนแรงของอาการสะท้านหนาวได้ การหายใจของพริกหวานที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 3 และ 6 องศาเซลเซียส เกิดขึ้นในอัตราต่ำกว่าที่อุณหภูมิห้อง พริกหวานที่ได้รับอากาศร้อนก่อนการเก็บรักษามีการสูญเสียน้ำหนักมากกว่าพริกหวานที่ไม่ได้รับอากาศร้อน แต่ไม่มีผลกระทบต่อปริมาณคลอโรฟิลล์ อย่างไรก็ตามการใช้อากาศร้อน เป็นระยะเวลา 45 นาที ช่วยลดอาการสะท้านหนาวได้เล็กน้อย การแช่พริกหวานในสารละลายแคลเซียมไม่มีผลกระทบต่อการสูญเสียน้ำหนักของพริกหวาน แต่มีผลกระทบต่อปริมาณคลอโรฟิลล์เล็กน้อย และเพิ่มการเกิดอาการสะท้านหนาวในพริกหวาน นอกจากนี้พริกหวานที่แช่สารละลายแคลเซียมมีปริมาณแคลเซียมภายในผลเพิ่มขึ้น แต่ชนิดและความเข้มข้นของสารละลายแคลเซียมไม่มีความสัมพันธ์กับปริมาณแคลเซียมภายในผล