บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาปริมาณน้ำมันหอมระเหยและไปเปอรีนในพริกไทยที่ปลูกในประเทศไทย

วราภรณ์ ภูตะลุน

วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต เภสัชศาสตร์ สาขาวิชาเภสัชเวช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 132 หน้า

2535

บทคัดย่อ

การศึกษาปริมาณน้ำมันหอมระเหยและไปเปอรีนในพริกไทยที่ปลูกในประเทศไทย   พริกไทยที่นิยมปลูกในประเทศโดยทั่วไปได้แก่พันธุ์ซาราวัคและพันธุ์ศรีลังกา วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้มุ่งเน้นที่การเปรียบเทียบคุณภาพของพริกไทยดำทั้งสองพันธุ์จากแหล่งปลูกหลักในประเทศที่จังหวัดจันทบุรีในแง่ของปริมาณน้ำมันหอมระเหยและไปเปอรีน ซึ่งพบว่าปริมาณน้ำมันระเหยและไปเปอรีนจากพริกไทยพันธุ์ศรีลังกา (2.73%, 4.96%) มากกว่าพริกไทยพันธุ์ซาราวัค (1.78%, 3.82%) อย่างมีนัยสำคัญ (a=0.05) เมื่อศึกษาถึงปริมาณและชนิดองค์ประกอบในน้ำมันระเหยของพริกไทยที่ได้จากทั้งสองพันธุ์โดยใช้ GC และ GC-MS พบว่ามีองค์ประกอบอย่างน้อย 30 ชนิด โดยองค์ประกอบหลักที่พบได้แก่ a-pinene, B-pinene, sabinene, B-carene, limonene และ B-caryophyllene องค์ประกอบอื่นที่พบประกอบด้วย monoterpene hydrocarbons 7 ชนิด sesquiterqene hydrocarbons 11 ชนิดและ oxygenated terpene compounds 6 ชนิด จากการศึกษาสรุปได้ว่าพริกไทยพันธุ์ศรีลังกามีคุณภาพดีกว่าพันธุ์ซาราวัคทั้งในแง่ปริมาณน้ำมันหอมระเหยและไปเปอรีน เมื่อเปรียบเทียบกับพริกไทยดำจากประเทศอื่นพบว่าพริกไทยดำจากประเทศไทย (ทั้งพันธุ์ศรีลังกา และพันธุ์ซาราวัค) มีปริมาณไปเปอรีนสูงกว่าแต่มีปริมาณน้ำมันระเหยต่ำกว่าพริกไทยดำจากประเทศอินเดีย, บราซิล และมาเลเซีย เมื่อศึกษาถึงอายุของเมล็ดพริกไทยพบว่าปริมาณน้ำมันหอมระเหยและไปเปอรีนพบสูงสุดเมื่อเมล็ดพริกไทยมีอายุได้ 3 เดือนหลังจากนั้นจะมีปริมาณลดลง เมล็ดพริกไทยที่มีอายุ 5 เดือนจะเหมาะสมในการเก็บเกี่ยวเพื่อนำไปทำพริกไทยดำ และพบว่าเมล็ดพริกไทยที่มีอายุ 2 ถึง 6 เดือนจะไม่มีความแตกต่างในแง่ปริมาณและชนิดขององค์ประกอบในน้ำมันหอมระเหย (a=0.05) พริกไทยดำสามารถเก็บที่อุณหภูมิห้องในภาชนะปิดสนิทไม่ต่ำกว่า 8 เดือน โดยที่ปริมาณและองค์ประกอบในน้ำมันหอมระเหยไม่มีการเปลี่ยนแปลง