บทคัดย่องานวิจัย

ผลของแสง ความเป็นกรดด่าง และน้ำตาลซูโครสต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณแอนโธไซยานิน ในดอกกุหลาบ (Rosa hybrida) พันธุ์ดาลัส

ปรารถนา ชูรัตน์

วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2542. 120 หน้า

2542

บทคัดย่อ

ผลของแสง ความเป็นกรด และน้ำตาลซูโครสต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณแอนโธไซยานิน ในดอกกุหลาบ (Rosa hybrida) พันธุ์ดาลัส           ผลของแสง ความเป็นกรดด่างร่วมกับน้ำตาลซูโครสต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณแอนโธไซยานินของดอกกุหลาบพันธุ์ดาลัส ได้ทำการศึกษาโดยแบ่งเป็น 2 การทดลอง ในการทดลองแรกศึกษาอิทธิพลของแสงสีน้ำเงิน แสงสีแดง แสงปกติ (ได้รับแสง 12 ชั่วโมง) และสภาพมืดต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณแอนโธไซยานินและปริมาณฟลาโวนอยด์ในกลีบดอกกุหลาบ ผลการศึกษาพบว่า ในทุกสภาพการเก็บรักษาปริมาณแอนโธไซยานินเพิ่มขึ้นจากวันแรกของการเก็บรักษา หลังจากนั้นปริมาณแอนโธไซยานินมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 5 ของการเก็บรักษาดอกกุหลาบที่เก็บรักษาในสภาพแสงปกติมีปริมาณแอนโธไซยานินมากที่สุด สำหรับสีของกลีบดอกกุหลาบไม่พบการเปลี่ยนแปลงตลอดการเก็บรักษา ถึงแม้ว่าการเก็บรักษาในสภาพแสงปกติ แสงสีแดง และแสงสีน้ำเงิน และในสภาพมืด ทำให้ดอกกุหลาบมีปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยการเก็บรักษาในสภาพแสงปกติทำให้ดอกกุหลาบมีปริมาณน้ำตาลรีดิวส์มากที่สุด นอกจากนี้การเก็บรักษาในสภาพแสงปกติมีผลทำให้ปริมาณโปรตีนและอัตราการหายใจเพิ่มขึ้นในวันที่ 3 ของการเก็บรักษา ส่วนการสูญเสียน้ำหนักสดพบว่า ดอกกุหลาบที่เก็บรักษาในสภาพแสงปกติมีการสูญเสียน้ำหนักสดมากที่สุด รองลงมาคือ ดอกกุหลาบที่เก็บรักษาในสภาพแสงสีแดง แสงสีน้ำเงิน และในสภาพมืดตามลำดับ สำหรับการทดลองที่ 2 เป็นการศึกษาอิทธิพลร่วมของ pH ที่ระดับ 45และ7กับน้ำตาลซูโครสที่ระดับความเข้มข้นร้อยละ 010และ15 ผลการศึกษาพบว่า pH และน้ำตาลซูโครสไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณแอนโธไซยานินและปริมาณฟลาโวนอยด์ ดอกกุหลาบที่ปักแช่ในสารละลายที่มี pH ร่วมกับน้ำตาลซูโครสที่ระดับความเข้มข้นต่างๆ ทำให้ปริมาณแอนโธไซยานินมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติตลอดระยะเวลาการเก็บรักษา แต่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสีของกลีบดอกกุหลาบ โดยดอกกุหลาบที่ปักแช่ในสารละลาย pH 5 ร่วมกับน้ำตาลซูโครสร้อยละ 15 ทำให้ดอกกุหลาบมีการเปลี่ยนแปลงสีของกลีบดอกน้อยที่สุด ส่วนดอกกุหลาบที่ปักแช่ในสารละลาย pH 4 ร่วมกับน้ำตาลซูโครสร้อยละ 15 มีการเปลี่ยนแปลงสีของกลีบดอกมากที่สุด นอกจากนี้การเพิ่มความเข้มข้นของน้ำตาลซูโครสในสารละลายที่ใช้ปักแจกันทำให้ปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์ อัตราการหายใจ และอัตราการผลิตเอทธิลีน ของดอกกุหลาบเพิ่มขึ้นด้วย ดอกกุหลาบที่ปักแช่ในสารละลายที่มีน้ำตาลซูโครสทุกระดับความเข้มข้น พบว่าอัตราการผลิตเอทธิลีนของดอกกุหลาบเพิ่มสูงสุดในวันแรกของการเก็บรักษาแล้วลดลง ส่วนอัตราการหายใจเพิ่มขึ้นสูงสุดในวันที่ 3 ของการเก็บรักษา นอกจากนี้พบว่าดอกกุหลาบที่ปักแช่ในสารละลายที่มีระดับน้ำตาลซูโครสร้อยละ 15 มีการสูญเสียน้ำหนักสดน้อยที่สุด รองลงมาคือ ร้อยละ 10 และ 0 ตามลำดับ