บทคัดย่องานวิจัย

การแยกสารต้านเชื้อราในผิวมะม่วง

ทวีสิน กล่อมเกล้า

วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาเคมี)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2539. 69 หน้า.

2539

บทคัดย่อ

การแยกสารต้านเชื้อราในผิวมะม่วง การตรวจสอบสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา Cladosporium cladosporioides ที่มี Rf อยู่ในช่วง 0.10-0.30 [สาร (l)] จากสารที่สกัดจากเปลือกผลมะม่วงบนแผ่นโครมาโตกราฟีผิวบางในมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ แรด ทองดำ และน้ำดอกไม้ ที่มีช่วงอายุ 2 เดือน 3 เดือน 4 เดือน และสุก (12 วันหลังเก็บเกี่ยว) พบว่ามีสาร (l) ตั้งแต่มะม่วงมีอายุ 2 เดือน แต่จะมีมากที่สุดเมื่อมะม่วงมีอายุ 3 เดือน การเปลี่ยนแปลงปริมาณสาร (l) ของมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ จะลดลงจาก 678.71 ไมโครกรัมต่อกรัม (ของน้ำหนักเปลือกสด) ในช่วงอายุ 4 เดือนเหลือ 199.60 ไมโครกรัมต่อกรัม (ของน้ำหนักเปลือกสด) ในช่วงสุก (12 วันหลังเก็บเกี่ยว) การศึกษาเปรียบเทียบปริมาณสาร (l) ในมะม่วงทั้ง 4 สายพันธุ์ พบว่า มะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ มีปริมาณสาร (l) มากที่สุด รองลงมาได้แก่ พันธุ์ทองดำ พันธุ์แรด และพันธุ์น้ำดอกไม้ ตามลำดับ เมื่อนำแถบสาร (l) มาวิเคราะห์หาโครงสร้างโดยใช้เครื่องมือทางสเปกโตรสโคปีและโครมาโตกราฟี ซึ่งได้แก่ อินฟราเรดสเปกโตรโฟโตมิเตอร์ โปรตอน-นิวเคลียร์แมกเนติก รีซอแนนซ์สเปกโตรมิเตอร์ แกสโครมาโตกกราฟและแกสโครมาโตกราฟ-แมสสเปกโตรมิเตอร์ สรุปโครงสร้างของสาร (l) ที่อาจเป็นไปได้ คือ di-2-ethyl-hexylphthalate [(l)]