บทคัดย่องานวิจัย

การใช้สารเคมียืดอายุการปักแจกันของดอกจิบซอฟฟิลา

ดนัย บุณยเกียรติ และ รุ่งโรจน์ เขื่อนแก้ว

รายงานผลการวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทคัดย่อ

การใช้สารเคมียืดอายุการปักแจกันของดอกจิบซอฟฟิลา

ในปัจจุบันนี้ปริมาณการผลิตไม้ตัดดอกของประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากมีความเจริญทางวิชาการด้านการผลิตมากขึ้น ดอกไม้ในเขตอบอุ่นหลายชนิดที่ประเทศไทยนำเข้าจากต่างประเทศนั้นสามารถผลิตได้ดีในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตที่สุงทางภาคเหนือ ผู้ผลิตไม้ตัดดอกที่สำคัญคือโครงการหลวง โครงการตามพระราชดำริ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำและหน่วยงานเอกชน ไม้ดอกเมืองหนาวที่ผลิตได้ดีคือ แกลดิโอลัส คาร์เนชั่น เบญจมาศ เยอบีรา และจิบซอฟฟิลา ไม้ตัดดอกเหล่านี้มีระบบการผลิตที่พัฒนาไปมาก ทำให้มีคุณภาพสูงทัดเทียมกับของต่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อผลิตในฤดูหนาวแต่ยังมีปัญหาด้านหลังการเก็บเกี่ยวอยู่ เช่น ดอกบานไม่เต็มที่ หรืออายุการปักแจกันสั้นเป็นต้น

จิบซอฟฟิลา (Gypsophila paniculata) เป็นไม้ตัดดอกซึ่งมีลักษณะเป็นช่อ มีดอกย่อยเล็กๆ สีขาวหรือสีชมพูเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทะยอยบานต่อเนื่องกันไป ใช้ประโยชน์ในการตบแต่งช่อดอกไม้หรือปักแจกัน ตามปกติจะเก็บเกี่ยวในระบบที่ดอกย่อยบานประมาณ 30-50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมักจะประสบปัญหาเรื่องดอกบานไม่เต็มที่ และมีอายุการปักแจกันสั้น การใช้สารเคมีแช่หลังการเก็บเกี่ยวจะช่วยแก้ปัญหาได้ เช่น การใช้ Physan ผสมกับน้ำตาม Sucrose จะทำให้อายุการปักแจกันของดอกจิบซอฟฟิลานานขึ้น (เอกสารแนะนำจาก MAF ประเทศนิวซีแลนด์) การใช้ Silver thiosulfate (STS) จะช่วยป้องกันอันตรายจากก๊าซเอทธิลีนและช่อดอกไม้มีอายุการปักแจกันนานขึ้น มีการศึกษาพบว่าการใช้น้ำตาล Sucrose 10-15% รวมกับ 8-Hydroxyquinoline sulfate (8-HQS) STS และกรด Citric จะทำให้ดอกจิบซอฟฟิลาซึ่งบาน 20% บานเต็มที่ (Down et al, 1988) สำหรับการทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะทดสอบผลของ STS ผสมกับ 8-Hydroxyquinoline (8-HQ) น้ำตาล Sucrose และกรด Citric ต่อคุณภาพและอายุการปักแจกันของดอกจิบซอฟฟิลา

วิธีการทดลอง

ดอกจิบซอฟฟิลาพันธุ์ Bristol Fairy และ พันธุ์ Perfecta จากศูนย์พัฒนาเกษตรอินทนนท์ อ. จอมทอง จ. เชียงใหม่ ตัดในระยะที่ดอกบานประมาณ 50% ในตอนเย็นใช้สำลีชุบน้ำหุ้มที่โคนก้าน และขนส่งโดยบรรจุในกล่องกระดาษมายังภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น ตัดก้านทันทีและแช่ลงในสารละลายที่ประกอบด้วย STS 0.25 mM กรด Citric 50 ppm 8-HQ 200 ppm และน้ำตาล Sucrose 10% เป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วย้ายมาปักแจกันในน้ำกลั่นที่อุณหภูมิ ห้อง (ประมาณ 30 องศาเซลเซียส) ส่วนดอกอีกชุดหนึ่งตัดก้านแล้วแช่ลงในน้ำกลั่นเพื่อเป็นชุดควบคุม (control) ในการทดลองได้วางแผนการทดลองแบบ CRD และแต่ละวิธีการมี 3 ช้ำ แต่ละช้ำประกอบด้วยดอกจิบซอฟฟิลาหนัก 25 กรัม และการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยใช้วิธี LSD

ผลการทดลองและวิจารณ์

ตารางที่ 1 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักสูญเสีย และอายุการปักแจกันของดอกจิบซอฟฟิลาพันธุ์ Perfecta และ Bristol Fairy

กรรมวิธี

พันธุ์ Perfecta

พันธุ์ Bristol Fairy

น้ำหนักสูญเสีย (%)

อายุการปักแจกัน (วัน)

น้ำหนักสูญเสีย (%)

อายุการปักแจกัน (วัน)

น้ำกลั่น

สารเคมี

28.28a

6.99b

6.33b

13.00a

26.89a

10.62b

6.00b

14.33a

* ตัวเลขที่ตามด้วยอักษรเหมือนกันในแนวตั้งเดียวกัน ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยวิธี LSD

ดอกจิบซอฟฟิลาพันธุ์ Perfecta และ Bristal Fairy มีอายุการปัแจกัน 13 วันและ 14.3 วัน ตามลำดับ โดยพิจารณาจากการที่ดอกย่อย 50% เหี่ยวหรือแห้ง เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุมที่มีอายุการปักแจกันเพียง 6 วัน ดังนั้นสารเคมีจึงเพิ่มอายุการปักแจกันของช่อดอกจิบซอฟฟิลาได้ถึงประมาณเกินกว่า 2 เท่า นอกจากนั้นดอกที่แช่ในสารเคมีมีการบานของดอกย่อยถึง 100 % ในขณะที่ชุดควบคุมดอกย่อยจะบานประมาณ 70% แล้วจะเริ่มเหี่ยวและแห้งหลุดร่วงไป การที่ดอกชุดที่แช่ในสารเคมีมีอายุการปักแจกัน และคุณภาพดีกว่าชุดควบคุมนั้นเป็นเพราะช่อดอกได้อาหารจากน้ำตาล Sucrose เพื่อใช้ในกระบวนการเมตาบอลิสม์ในระหว่างการปักแจกัน Halevy and Mayak (1981) กล่าวว่าน้ำตาล Sucrose เป็นอาหารที่ดีของดอกไม้เพื่อใช้ในกระบวนการต่างๆ เช่นทำให้ดอกบานเต็มที่ ส่วน 8-HQ ซึ่งผสมอยู่ในสารเคมีจะทำหน้าที่ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ จะทำให้เกิดการอุดตันของท่อน้ำ ซึ่งจะส่งผลให้ดอกเหี่ยวอย่างรวดเร็วประกอบกับเชื้อจุลินทรีย์ยังอาจจะย่อยสลายส่วนของ pectin ในผนังเซลล์ ทำให้เกิดเมือกมาอุดตันท่อน้ำได้อีกด้วย ในการทดลองนี้เมื่อเปรียบเทียบการสูญเสียน้ำหนักลด 15 วันหลังจากปักแจกันนั้น พบว่าการปักแจกันในน้ำกลั่นจะมีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำประมาณ 28% และ 26% ในพันธุ์ Perfecta และ Bristol Fairy ตามลำดับ ในขระที่เมื่อแช่ในสารเคมีทั้งสองพันธุ์จะสูญเสียน้ำประมาณ 7% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสารเคมีทำให้ช่อดอกดูดน้ำไปทดแทนน้ำที่เสียไปได้น้อยทำให้มีการเสียน้ำหนักมาก และส่งผลให้อายุการปักแจกันสั้นลง นอกจากนั้น Downs et al. (1988) กล่าวว่าดอกจิบซอฟฟิลามีความไวต่อเอทธิลีนมาก ซึ่งเอทธิลีนจะทำให้ดอกร่วง (senescence) ไปอย่างรวดเร็ว การที่มีซิลเวอจาก STS จะช่วยยับยั้งการสังเคราะห์เอทธิลีนและทำให้การร่วงของดอกเกิดช้าลง
จากผลการทดลองนี้พอจะสรุปได้ว่าสารเคมี STS ซึ่งผสมกับกรด Citric 8-HQ และน้ำตาล Sucrose จะช่วยยืดอายุการปักแจกันและปรับปรุงคุณภาพของดอกจิบซอฟฟิลา