บทคัดย่องานวิจัย

การเจริญเติบโต ดัชนีการเก็บเกี่ยว การชะลอและเร่งการสุกของผลมะม่วง (Mangifera indica L.) พันธุ์เขียวเสวย

ธนะชัย พันธ์เกษมสุข

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. 2531. 170 หน้า

2531

บทคัดย่อ

การเจริญเติบโต ดัชนีการเก็บเกี่ยว การชะลอและเร่งการสุกของผลมะม่วง (Mangifera indica L.) พันธุ์เขียวเสวย

            การเจริญเติบโตของผลและเมล็ดมะม่วง  (Mangifera  indica  L.)  พันธุ์เขียวเสวย  เป็นแบบ  simple sigmoid curve  ความถ่วงจำเพาะของผลมีค่าต่ำกว่า  1.00  เมื่อผลมีอายุ  4-8 สัปดาห์  แต่มีค่ามากกว่า  1.00  ในระยะ  1-3  และ  9-16  สัปดาห์หลังดอกบานเต็มที่  ผลอายุ  5-14  สัปดาห์  มีความแน่นเนื้อเกือบคงที่ในช่วง  33.14 – 34.65  กก./ ตร.ซม.  หลังจากนั้นความแน่นเนื้อมีค่าลดลงเมื่อผลเริ่มสุก  ค่า  % soluble solids  (% SS)  และอัตราส่วน  soluble solids / titrable acids  (SS/TA)  ขณะผลดิบมีค่าระหว่าง  9.8 – 11.8 %  และ  3.70 – 15.13  ตามลำดับ  และมีค่าเพิ่มขึ้นเป็น  15.0 – 15.1 %  และ  62.50 – 62.92  เมื่อผลเริ่มสุกในสัปดาห์ที่  15-16  ค่า %  titrable acids  (% TA)  เพิ่มขึ้นในระยะ 3-8 สัปดาห์  และมีค่าสูงสุดเป็น  2.96 % ต่อมามีค่าลดลง  pH  ลดลงในระยะ  4-9 สัปดาห์  มีค่า 3.65 – 3.04  หลังจากนั้นเพิ่มขึ้นเป็น  4.72  เมื่อผลอายุ  16  สัปดาห์  ปริมาณไวตามินซีผันแปรในระยะแรก  เมื่อผลอายุ 11-16  สัปดาห์ จึงมีปริมาณค่อนข้างคงที่ระหว่าง  18-20  มก./100  ก.น้ำหนักสด  ปริมาณ  total  nonstructural carbohydrate  และ  reducing sugar  มีค่าแปรปรวนตลอดอยู่ระหว่าง  274 – 806  เทียบเท่า  มก. กลูโคส/กรัมน้ำหนักแห้ง  และ  14—425  มก.กลูโคส/กรัมน้ำหนักแห้งตามลำดับ

            ค่า % SS,  %  TA  และ  pH  อาจนำมาพิจารณาใช้เป็นดัชนีการเก็บเกี่ยวของผลมะม่วงพันธุ์เขียวเสวยได้   โดยผลมะม่วงที่แก่เก็บเกี่ยวได้  เมื่อค่าข้างต้นตามลำดับ   มากกว่า  10.0 %,  น้อยกว่า 1.54 %  และมากกว่า  4.32  ซึ่งผลมะม่วงมีอายุระหว่าง  12-14  สัปดาห์

            การหายใจของผลมะม่วงพันธุ์เขียวเสวยอายุ  11-14 สัปดาห์  มียอด  climacteric  (climacteric peak ; CP)  เกิดขึ้น  2  ครั้ง  โดยยอดแรก  (CP 1)  เกิดขึ้นขณะที่เนื้อผลใกล้เปลือกหุ้มเมล็ดเริ่มสุก  และเกิดยอดที่สอง  (CP 2)  เมื่อเนื้อบริเวณใกล้ผิวผลสุก  ส่วนการผลิตเอทธิลีน  (C2 H4) มีลักษณะคล้ายคลึงกับการหายใจของผล

            เมื่อเก็บรักษาผลมะม่วงพันธุ์เขียวเสวยในถุงพลาสติก  (polyethylene ; PE)  เจาะรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  0.5  ซม.  จำนวน  8  และ  16  รู  โดยใส่และไม่ใส่สารดูดซับเอทธิลีน  (EA)  ณ  อุณหภูมิห้อง  (RT ; 26 – 37O ซ.),  15O  และ  10O ซ  ผลมีอายุการเก็บรักษาได้  13,  17  และ  27  วันตามลำดับ  ที่ RT  และ  15O ซ.  ผลจะสุกเมื่อเก็บรักษาไว้นาน  6  และ  10  วันตามลำดับ  ส่วนผลที่  10O ซ.  เนื้อผลมีลักษณะห่ามเมื่อเก็บรักษาไว้นาน  27 วัน  ระหว่างการเก็บรักษาการสูญเสียน้ำหนักสด,  %  SS,  SS/TA  และ pH  มีค่าเพิ่มขึ้น  ขณะที่ความแน่นเนื้อ และ  % TA  มีค่าลดลง  ความเข้มข้นของ CO2  และ C2 H4  ภายในถุงมีการเปลี่ยนแปลงคล้ายกับอัตราการหายใจ  และการผลิตเอทธิลีนของผล  ส่วนความเข้มข้นของ  O2  มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยระหว่าง  20.14 – 20.19 %  การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวพบใน  RT  มากกว่าในอุณหภูมิ  15O ซ.  และ  10O ซ.   ตามลำดับจากมากไปน้อย  อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะพบในสภาพถุงที่เจาะรู  16 รูมากกว่าพวกที่เจาะรู  8 รู  และในพวกที่ไม่ใส่  EA  มากกว่าพวกที่ใส่  EA

            สำหรับผลมะม่วงที่เก็บรักษาไว้ในถุง  PE  ไม่เจาะรู,  เจาะรูเข็มหมุด  8  และ  16 รู  ณ  อุณหภูมิ  10O ซ.  ผลมะม่วงยังคงอยู่ในสภาพผลดิบ  เมื่อเก็บรักษาไว้นาน  25 วัน  แต่ผลที่เก็บรักษาไว้ในถุง  PE  ไม่เจาะรู  ทั้งที่ใส่และไม่ใส่  EA  มีกลิ่นหมัก  เมื่อเก็บรักษาไว้นาน  12  วัน  การสูญเสียน้ำหนักสด,  % SS,  SS/TA  และ  pH  มีค่าเพิ่มขึ้น  ขณะที่ความแน่นเนื้อ และ  % TA  มีค่าลดลง  โดยมีแนวโน้มที่จะพบการเปลี่ยนแปลงในพวกที่ไม่ใส่  EA  มากกว่าพวกที่ใส่  EA  และพบในถุง  PE  เจาะรูเข็มหมุด  16 รูมากกว่าเจาะรูเข็มหมุด  8 รู  และไม่เจาะรู  ตามลำดับจากมากไปน้อย  การสูญเสียน้ำหนักสดและความแน่นเนื้อของผลมะม่วงที่เก็บรักษาไว้นาน  12 วันในถุง  PE  ไม่เจาะรู,  เจาะรูเข็มหมุด  8  และ  16 รู  มีค่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ  ส่วนความเข้มข้นของ   CO2  เพิ่มขึ้นขณะที่  O2  ลดลง  ซึ่งเกิดในระยะ  1-6 วันหลังการเก็บรักษา  หลังจากนั้นความเข้มข้นของ CO2  และ   O2  ค่อนข้างคงที่  ส่วน   C2 H4  ในพวกที่ไม่ใส่  EA  มีความเข้มข้นสูงกว่าพวกที่ใส่  EA  8.8  เท่า  โดยพวกที่ใส่  EA  มีความเข้มข้น  0.004 – 0.014  ppm

            การบ่อมผลมะม่วงที่อุณหภูมิห้อง  (26-37 O ซ)  ด้วยเอทธิลีนความเข้มข้น  1,000 ppm  เอทธิลีนบรรจุในถุงพลาสติก  แคลเซี่ยมคาร์ไบด์   (Ca C2)  ใบขี้เหล็ก   ใบสะเดา    และใบหางนกยูงไทย พบว่าผลที่ปล่อยให้สุกเองตามธรรมชาติ  (control)  ใช้เวลาในการสุก  6 วัน   ส่วนผลที่ผ่านการบ่มด้วยวิธีต่าง ๆ  ใช้เวลาในการสุก  5 วัน นับจากเริ่มบ่มผล  และผลมะม่วงเริ่มเหี่ยวให้เห็นเมื่อสูญเสียน้ำหนักไปตั้งแต่  13.65 %  หรือมากกว่า  โดยเริ่มพบอาการเหี่ยวในวันที่ 6  ในพวก  control  และพวกที่บ่มโดยไม่ใช้ใบไม้  ส่วนพวกที่บ่มโดยใช้ใบไม้พบอาการผลเหี่ยวในวันที่  7-8    พวก  control   ค่า  % SS,  SS/TA  และ  pH  มีค่าต่ำสุด  แต่ความแน่นเนื้อ และ % TA  มีค่าสูงสุด  คุณภาพตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสีผิวและสีเนื้อของผลมะม่วงที่ผ่านการบ่มด้วยวิธีต่าง ๆ  มีค่าใกล้เคียงกัน  โดยผิวผลสามารถเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทั้งหมดในเวลา  7-8 วันนับจากเริ่มบ่มผล  ส่วนพวก  control  สีผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเพียง  80 %  เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการศึกษา  (8 วัน)  และผลมะม่วงที่ผ่านการบ่อมเนื้อผลมีสีเหลืองทั้งหมดในวันที่  5-6  ขณะที่  control   ใช้เวลา  7 วัน  การประเมินคุณภาพการรับประทานของผลขณะสุกมีค่าใกล้เคียงกัน  ยกเว้นผลที่บ่มด้วย Ca C2 เนื้อมีกลิ่นและรสของคาร์ไบด์ปนอยู่ด้วย  ความเข้มข้นของ   CO2  และ C2 H4  ในพวกที่บ่มด้วยใบไม้มีมากกว่าพวกที่บ่มด้วยวิธีอื่น ๆ  และ control    แต่ความเข้มข้นของ  O2  ในพวกที่บ่มด้วยใบไม้ก็มีน้อยกว่าพวกที่บ่มด้วยวิธีอื่นทั้งหมด