บทคัดย่องานวิจัย

คุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวและผลของแสงจากหลอดไฟที่มีต่อการสร้างแอนโทไซยานินของผลแอปเปิลพันธุ์แอนนา (Malus sylvestris Mill.cv. Anna) หลังการเก็บเกี่ยวและหลังการเก็บรักษา

ราษี จำปานิล

การค้นคว้าแบบอิสระเชิงวิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาการสอนชีววิทยา)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2531. 92 หน้า.

2531

บทคัดย่อ

คุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวและผลของแสงจากหลอดไฟที่มีต่อการสร้างแอนโทไซยานินของผลแอปเปิลพันธุ์แอนนา (Malus sylvestris Mill.cv.Anna) หลังการเก็บเกี่ยวและหลังการเก็บรักษา

            แบบแผนการเติบโตโดยวัดการเปลี่ยนแปลงน้ำหนัก  ความกว้างและความยาวของผลแอปเปิลพันธุ์แอนนาที่เก็บเกี่ยวในปี  2530  (15  มีนาคม  -  28  มิถุนายน  2530)  จากสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง  เชียงใหม่  พบว่ามีลักษณะเป็น  single sigmoid type   โดยมีน้ำหนักเฉลี่ยเมื่ออายุ  17 สัปดาห์เท่ากับ  140.47  ± 5.83  กรัม  มีขนาดความกว้าง  6.75   ±  0.15  เซนติเมตร  และความยาว  6.93  ±  0.07  เซนติเมตร  การศึกษาคุณภาพของผลที่ต่างกัน  3 อายุคือ  112,  117  และ  122  วัน  พบว่าทั้ง  3  อายุ  มีความแก่ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้โดยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับและสุกได้ปกติ  การศึกษาคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อการรอจำหน่ายที่อุณหภูมิ   25O ซ  นาน  14  วัน  พบว่าแอปเปิลทั้ง  3 อายุ  มีค่า  TSS  ค่าความแน่นเนื้อ  ปริมาณกรดมาลิกไม่แตกต่างกันทางสถิติ  และเกณฑ์คุณภาพเหล่านี้ระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ  3O ซ  นาน  90  วัน  ก็ไม่แตกต่างเช่นกัน  แอปเปิลทั้ง  3 อายุนี้  เมื่อเก็บเกี่ยวค่า  TSS  เท่ากับ  10.81 %,  9.83 %   และ  10.22 %  ความแน่นเนื้อเท่ากับ  10.12,  10.52  และ  10.38  ปอนด์ ต่อ  8 มม.  Diameter  plunger  ปริมาณกรดมาลิกมีค่าเท่ากับ  0.65,  0.67  และ  0.64  มก.  ต่อ 10  มล.  ตามลำดับ  ระหว่างการรอจำหน่ายและระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ    3O ซ  พบว่า  ค่า  TSS  จะเพิ่มขึ้น  ส่วนค่าความแน่นเนื้อและปริมาณกรดจะลดลงตามจำนวนวันที่เก็บรักษา

            การเก็บเกี่ยวแอปเปิลพันธุ์แอนนาที่อายุ  117 วัน  หลังจากดอกบานแล้วนำไปให้แสงสีขาวจากหลอดฟลูออเรลเซนต์   ความเข้ม  21  วัตต์   ต่อตารางเมตร  และ  30 วัตต์  ต่อตารางเมตร  (25-29O ซ, 60 % RH)    นาน  73  ชั่วโมง  พบว่าแสงสามารถกระตุ้นการสร้างแอนโทไซยานินได้  โดยหลังการให้แสงการสร้างแอนโทไซยานินจะมีค่าเพิ่มขึ้น  20.04 x 10-8  mole idaein /cm2  สีผิวของแอปเปิลจะมีสีแดงเข้มสม่ำเสมอเมื่อเปรียบเทียบกับชุดที่ไม่ได้ให้แสง  ปริมาณแอนโทไซยานินมีค่าเพียง  5.59 x  10-8  mole idaein /cm2 ซึ่งผิวจะมีสีเขียวจางและมีสายเส้นสีแดง  การให้แสงที่ความเข้ม  30  วัตต์  ต่อตารางเมตร  และ  21 วัตต์ ต่อตารางเมตร  จะมีประสิทธิภาพเท่ากันในการกระตุ้นการสร้างแอนโทไซยานั้น  สำหรับการให้แสงเสริมจากหลอดไฟ  2 ชนิดคือ  Grolux  และ  Black  light  20  วัตต์  ความเข้ม  21  วัตต์  ต่อตารางเมตร  พบว่าการเสริมแสงจากหลอดไฟไม่มีผลทำให้ประสิทธิภาพในการสร้างแอนโทไซยานินและสีที่ปรากฎแตกต่างกัน  ส่วนการตอบสนองต่อแสงในการสร้างแอนโทไซยานินระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ   3O ซ  เป็นเวลา  30,  60  และ  90  วัน  ก็ไม่แตกต่างกันแอปเปิลก่อนการเก็บรักษา  การประเมินคุณภาพโดยการชิมรสของผลแอปเปิลหลังการให้แสงพบว่าคะแนนการยอมรับจะมากกว่าก่อนการให้แสง  เนื่องจากความเปรี้ยวลดลง  รสชาติหวานขึ้น  ทำให้แอปเปิลพันธุ์แอนนาที่ปลูกบนที่สูงทางภาคเหนือของประเทศไทยมีคุณภาพดีขึ้น