บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสภาพการปลูกและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่มีต่อคุณภาพใน การบริโภคและการแปรรูปของมันฝรั่ง

วิวัฒน์ ภาณุอำไพ

วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เกษตรศาสตร์ (สาขาวิชาพืชสวน)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2538. 108 หน้า.

2538

บทคัดย่อ

ผลของสภาพการปลูกและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่มีต่อคุณภาพใน การบริโภคและการแปรรูปของมันฝรั่ง

ได้มีการศึกษาผลของสภาพการปลูกและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่มีต่อคุณภาพในการบริโภคและการแปรรูปของมันฝรั่งพันธุ์เคนนีเบค พันธุ์แอตแลนติค และพันธุ์ฝาง 60 ใช้ระยะปลูก 25 x 60 ซม. และ 29 x 90 ซม. เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 75 และ 90 วันตามลำดับ หัวมันฝรั่งที่เก็บเกี่ยวได้ถูกนำมาผึ่งรักษาผิวเป็นเวลานาน 7 และ 14 วัน ก่อนนำไปทดสอบคุณภาพในการประกอบอาหารและการแปรรูป รวมทั้งนำไปทดลองเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลานาน 12 สัปดาห์ ในฤดูหนาว การทดลองกระทำที่สถานีทดลองพืชสวนฝาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ระดับความสูง 500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล และที่ดอยปู่หมื่น อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ระดับความสูง 1300 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2534 ถึงเดือนพฤษภาคม 2535 ในฤดูฝนทดลองที่ดอยปู่หมื่นแห่งเดียว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงเดือนพฤศจิกายน 2535

ผลการทดลองในฤดูหนาว เขตพื้นที่ราบ ปรากฏว่า พันธุ์แอตแลนติค มีน้ำหนักแห้งของลำต้น ใบ และหัวมากที่สุด แต่ในเขตพื้นที่สูง มันฝรั่งทั้ง 3 พันธุ์ มีน้ำหนักแห้งไม่แตกต่างกัน ส่วนในฤดูฝน เขตพื้นที่สูง พันธุ์ฝาง 60 มีน้ำหนักแห้งของลำต้นและใบมากที่สุด แต่มีน้ำหนักแห้ง หัวน้อยกว่าพันธุ์แอตแลนติค ระยะปลูกไม่มีผลต่อน้ำหนักแห้งของต้นมันฝรั่ง แต่ระยะปลูก 25 x 60 ซม. ให้ดัชนีพื้นที่ใบและอัตราการสะสมน้ำหนักแห้งต่อพื้นที่ดิน มากกว่าการใช้ระยะปลูก 25 x 90 ซม.

ผลผลิตของมันฝรั่งทั้ง 3 พันธุ์ แตกต่างกันในแต่ละฤดูและสถานที่ปลูก ในฤดูหนาวพันธุ์ฝาง 60 ให้ผลผลิตสูงสุดเมื่อปลูกในเขตพื้นที่ราบ แต่ในเขตพื้นที่สูง พันธุ์ฝาง 60 ให้ผลผลิตต่ำกว่าพันธุ์แอตแลนติค และพันธุ์เคนนีเบค ส่วนในฤดูฝน ซึ่งเป็นการปลูกนอกฤดูในสภาพพื้นที่สูง พบว่าพันธุ์ฝาง 60 ให้ผลผลิตสูงกว่าอีกสองพันธุ์ ระยะปลูกและอายุเก็บเกี่ยวมีอิทธิพลต่อผลผลิต ระยะปลูก 25 x 60 ซม. ให้ผลผลิตสูงกว่าระยะปลูก 25 x 90 ซม. อายุเก็บเกี่ยว 90 วัน สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของมันฝรั่งทั้ง 3 พันธุ์ เปรียบเทียบการเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 75 วัน มันฝรั่งทั้ง 3 พันธุ์ที่ปลูกในช่วงฤดูฝน ให้ค่าความถ่วงจำเพาะและปริมาณน้ำหนักแห้งของหัว ต่ำกว่าที่ปลูกในฤดูหนาว การเก็บเกี่ยวเมื่อมันฝรั่งมีอายุมากขึ้น สามารถเพิ่มค่าความถ่วงจำเพาะ และปริมาณน้ำหนักแห้งของหัว นอกจากนี้ยังพบว่าพันธุ์แอตแลนติค มีค่าความถ่วงจำเพาะ และปริมาณน้ำหนักแห้งสูงกว่าพันธุ์เคนนีเบค และพันธุ์ฝาง 60

ผลการทดสอบคุณภาพในการประกอบอาหารและการแปรรูป หลังการผึ่งรักษาผิวนาน 7 และ 14 วัน พบว่าระยะเวลาผึ่งรักษาผิวไม่มีผลต่อสีของมันฝรั่งที่ประกอบอาหารและแปรรูป แต่มันฝรั่งที่เก็บเกี่ยวอายุ 90 วัน เมื่อนำไปแปรรูปเป็นมันฝรั่งทอดแบบแผ่น และมันฝรั่งทอดแบบแท่งมีสีเหลืองอ่อนกว่ามันฝรั่งที่เก็บเกี่ยวอายุ 75 วัน นอกจากนี้พบว่าหลังการแปรรูป มันฝรั่งที่ปลูกในเขตพื้นที่ราบมีสีเหลืองอ่อนกว่ามันฝรั่งที่ปลูกในเขตพื้นที่สูง ส่วนคุณภาพในการประกอบอาหารของมันฝรั่งทั้ง 3 พันธุ์นี้ พบว่าไม่แตกต่างกันทั้งสีและความแน่นเนื้อ

ผลการทดลองเก็บรักษาหัวมันฝรั่งที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลานาน 12 สัปดาห์ พบว่าหัวมันฝรั่งจากการปลูกในฤดูฝนมีการสูญเสียน้ำหนักและการเน่าเสียมากกว่า แต่มีเปอร์เซ็นต์การงอก หน่อต่ำกว่ามันฝรั่งที่ปลูกในฤดูหนาว การเก็บเกี่ยวมันฝรั่งเมื่ออายุ 75 วัน มีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนักและการเน่าเสียของหัวมันฝรั่งมากกว่าอายุเก็บเกี่ยว 90 วัน แต่ระยะเวลาผึ่งรักษาผิวนาน 14 วัน ช่วยชะลอการสูญเสียน้ำหนักและการเน่าเสียของมันฝรั่งที่เก็บเกี่ยวก่อนดังกล่าว