บทคัดย่องานวิจัย

การใช้วัสดุดูดความชื้นในภาชนะปิดสนิทเพื่อเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง

สมรรถชัย มาลารัตน์

วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์ (สาขาวิชาพืชไร่)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2533. 86 หน้า.

2533

บทคัดย่อ

การใช้วัสดุดูดความชื้นในภาชนะปิดสนิทเพื่อเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง

การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง สจ.5 ในสภาพอุณหภูมิห้องปกติ โดยใช้ปลายข้าวอบแป้งข้าวเจ้าอบ ข้าวโพดบดอบ ขี้เถ้าแกลบอบ และถ่านบดอบ อัตรา 10, 20 และ 30% โดยปริมาตร เป็นวัสดุดูดความชื้นในกระป๋องที่ปิดสนิทป้องกันการถ่ายเทความชื้นได้ เปรียบเทียบกับการเก็บรักษาในกระป๋องที่ปิดสนิทโดยไม่ใส่วัสดุดูดความชื้น พบว่า ความชื้นของเมล็ดพันธุ์ที่เก็บรักษาโดยไม่ใส่วัสดุดูดความชื้น จะคงที่ตลอดระยะเวลาในการเก็บรักษานาน 8 เดือน โดยเฉลี่ยแล้ว 9.06 % ขณะที่การเก็บรักษาโดยใช้วัสดุดูดความชื้นทั้ง 5 ชนิด และทุกอัตราที่มีความชื้นของเมล็ดเบื้องต้น 9.03 % ความชื้นของเมล็ดจะลดลงเข้าสู่สมดุลย์ ภายในเวลาการเก็บรักษานาน 2 เดือน หลังจากนั้นความชื้นของเมล็ดค่อนข้างจะคงที่ โดยจะลดลงอยู่ในช่วง 7.13 8.32% แตกต่างตามชนิดและอัตราที่ใช้ โดยที่การใช้วัสดุดูดความชื้นในอัตราที่สูงขึ้น เมล็ดพันธุ์ยิ่งมีความชื้นลดต่ำลง และหลังการเก็บรักษานาน 8 เดือน เปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ดพันธุ์ที่เก็บรักษาโดยไม่ใส่วัสดุดูดความชื้นจะลดเหลือเพียง 51.3 % ในขณะที่การเก็บรักษาโดยใช้วัสดุทั้ง 5 ชนิดและทุกอัตราสามารถเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ให้มีความงอกสูงกว่า 67 %

สำหรับความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์ที่ทดสอบโดยวิธีการเร่งอายุ และอัตราการเจริญเติบโตของต้นอ่อน (มิลลิกรัม/ต้น) หลังการเก็บรักษานาน 8 เดือน จะให้เปอร์เซ็นต์ความงอกหลังการเร่งอายุ และน้ำหนักแห้งของต้นอ่อนปกติลดลงในทำนองเดียวกัน โดยที่การเก็บรักษา โดยไม่ใส่วัสดุดูดความชื้น จะลดลงต่ำกว่าการเก็บรักษาโดยใช้วัสดุดูดความชื้นทั้ง 5 ชนิดและทุกอัตรา ขณะที่การทดสอบความแข็งแรงโดยวิธีการวัดค่าการนำไฟฟ้า (ไมโครโมส์/กรัม) ของเมล็ดพันธุ์ที่เก็บรักษาโดยไม่ใส่วัสดุดูดความชื้นจะเพิ่มขึ้นมากที่สุด สำหรับการเก็บรักษาโดยใช้วัสดุดูดความชื้นทั้ง 5 ชนิดและทุกอัตรานั้น พบว่าเมล็ดพันธุ์ที่เก็บรักษาโดยใช้ปลายข้าวอบ แป้งข้าวเจ้าอบ และข้าวโพดบดอบอัตรา 30 % จะมีความแข็งแรงค่อนข้างดีกว่าการเก็บรักษาโดยใช้วัสดุดูดความชื้นชนิดและอัตราอื่น

สหสัมพันธ์ระหว่างเปอร์เซ็นต์ความชื้นของเมล็ดพันธุ์ กับเปอร์เซ็นต์ความงอกมาตรฐาน และเปอร์เซนต์ความงอกหลังการเร่งอายุ พบว่าจะมีสหสัมพันธ์กันทางสถิติในเชิงลบ หลังการเก็บรักษานาน 4 เดือนขึ้นไป สำหรับสหสัมพันธ์ระหว่างเปอร์เซ็นต์ความงอกหลังการเร่งอายุ กับน้ำหนักแห้งของต้นอ่อนปกติ พบว่าจะมีสหสัมพันธ์กันทางสถิติในเชิงบวก ขณะที่เปอร์เซ็นต์ความงอกหลังการเร่งอายุ และน้ำหนักแห้งของต้นอ่อนปกติจะมีสหสัมพันธ์กันทางสถิติในเชิงลบกับค่าการนำไฟฟ้าของเมล็ดพันธุ์ หลังการเก็บรักษานานตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป