บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสารเคมีคลุกเมล็ดที่มีต่อความสามารถในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวบาร์เลย์

อำพล เฟื่องแก้ว

วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เกษตรศาสตร์ (สาขาวิชาพืชไร่)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2538. 58 หน้า.

2538

บทคัดย่อ

การค้นคว้าแบบอิสระเชิงวิทยานิพนธ์ ผลของสารเคมีคลุกเมล็ดที่มีต่อความสามารถในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวบาร์เลย์

การศึกษาการใช้สารเคมีคลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวบาร์เลย์ที่มีต่อความสามารถในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวบาร์เลย์ 2 พันธุ์คือ พันธุ์ บรบ.2 และบรบ.9 สารเคมีที่ใช้ได้แก่ Malathion, Culator, Fuji-1, Dithane M-45, Malathion + Culator, Malathion + Fuji-1, และ Malathion + Dithane M-45 โดยเก็บรักษาไว้ในสภาพอุณหภูมิห้อง (25o C) และห้องเย็น (15 - 20o C) นาน 8 เดือน ผลการทดสอบความงอก ทดสอบความแข็งแรง ทดสอบความชื้น ตรวจสอบการเข้าทำลายของแมลง และตรวจสอบสุขภาพของเมล็ดพันธุ์ พบว่าหลังจากเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวบาร์เลย์ทั้ง 2 พันธุ์ในอุณหภูมิห้องนั้น การใช้ Malathion สามารถควบคุมและกำจัดแมลงในโรงเก็บได้ดี และไม่มีผลต่อความงอก และความแข็งแรงของเมล็ด การใช้สารเคมี Culator, Fuji-1, Malathion + Culator และ Malathion + Fuji -1 พบว่าทำให้ความงอกและความแข็งแรงลดลงในระดับปานกลาง แต่การใช้ Dithane M-45 คลุกเมล็ดเพียงอย่างเดียว หรือการใช้ Malathion คลุกร่วมกับ Dithane M-45 พบว่า ทำให้คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ทั้งความงอกและความแข็งแรงลดลงต่ำที่สุด สำหรับการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวบาร์เลย์ทั้งสองพันธุ์ในห้องเย็น พบว่า ความงอกและความแข็งแรงโดยทั่วไปสูงกว่าการเก็บรักษาในอุณหภูมิห้อง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับเมล็ดพันธุ์ข้าวบาร์เลย์ที่ไม่ได้คลุกสารเคมี พบว่ามีคุณภาพสูงกว่าการใช้สารเคมีต่าง ๆ ได้แก่ Dithane M-45, Culator และ Fuji-1 ซึ่งถึงแม้พบว่าจะสามารถกำจัดเชื้อราที่ติดมากับเมล็ดได้ก็ตาม ส่วนผลการทดสอบความชื้นของเมล็ดพันธุ์ข้าวบาร์เลย์ทั้ง 2 พันธุ์ หลังการเก็บรักษานาน 8 เดือน และเก็บรักษาไว้ในแต่ละสภาพนั้น เมล็ดที่คลุกสารเคมีชนิดต่าง ๆ และไม่คลุกมีเปอร์เซนต์ความชื้นที่ไม่แตกต่างกัน