บทคัดย่องานวิจัย

ผลทางสรีรวิทยาในการชะลอการสุกของผลสาลี่ (Pyrus pyrifolia Nakai) พันธุ์ Pien Pu ที่เก็บรักษาโดยวิธีเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบบรรยากาศ

กาญจนา เชียงทอง

การค้นคว้าแบบอิสระเชิงวิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาการสอนชีววิทยา) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2535. 112 หน้า.

2535

บทคัดย่อ

การค้นคว้าแบบอิสระเชิงวิทยานิพนธ์ ผลทางสรีรวิทยาในการชะลอการสุกของผลสาล(Pyrus pyrifolia Nakai) พันธุ์ Pien Pu ที่เก็บรักษาโดยวิธีเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบบรรยากาศ

ผลสาลี่พันธุ์ Pien Pu อายุ 142 วันหลังดอกบาน ในปี 2534 และอายุ 137 วัน หลังดอกบาน ในปี 2535 เก็บรักษาโดยวิธีเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบบรรยากาศ (Modified Atmosphere, MA) แบบต่าง ๆ ด้วยการใช้สารเคลือบผิว Semperfresh 1.2 % การห่อผลด้วยฟิล์มพลาสติก PVC แบบห่อผลเดี่ยว ๆ (individual-wrapped) และห่อผลรวมทั้งถาด 3 ผลต่อถาด (over-wrapped) การเคลือบผิวร่วมกับการห่อผลด้วยฟิล์มพลาสติก เก็บในตู้เย็นอุณหภูมิ 17o C ความชื้นสัมพัทธ์ 85-92 % แล้ววัดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของผลทางสรีระและทางชีวเคมี พบว่า MA แต่ละแบบมีผลต่อการสุกแตกต่างกัน การเคลือบผิวและการห่อผลด้วยฟิล์มพลาสติกสามารถชะลอการสุกได้ โดยชะลอการลดลงของความแน่นเนื้อและปริมาณกรดมาลิก และชะลอการเพิ่มขึ้นของปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ การเคลือบผิวร่วมกับการห่อฟิล์มแบบเดี่ยว ๆ ชะลอการสุกได้ดีกว่าการห่อฟิล์มแบบรวมทั้งถาด และมีอายุการเก็บรักษานานกว่าชุดการทดลองอื่น ๆ คือ ในปี 2534 ชุดไม่เคลือบผิว ชุดห่อฟิล์มแบบรวมทั้งถาดและชุดห่อฟิล์มแบบเดี่ยว ๆ มีอายุการเก็บรักษา 14 วัน 21 วัน และ 28 วัน ตามลำดับ แต่ในชุดเคลือบผิว ชุดเคลือบผิวร่วมกับห่อฟิล์มแบบรวมทั้งถาดและชุดเคลือบผิวร่วมกับห่อฟิล์มแบบเดี่ยว ๆ มีอายุการเก็บรักษา 35 วัน 35 วัน และ 42 วันตามลำดับ ส่วนในปี 2535 อายุการเก็บรักษาของผลสาลี่จะสูงกว่าในปี 2534 ในทุกชุดการทดลอง คาดว่า ผลสาลี่ปี 2535 มีความแก่ทางสรีระมากกว่าปี 2534 แม้ว่าอายุหลังดอกบานจะน้อยกว่า

การสุกของผลสาลี่ที่แตกต่างกันใน MA แต่ละแบบสัมพันธ์กับปริมาณ O2 ภายในผล โดยผลสาลี่ที่ใช้สารเคลือบผิวมีปริมาณ O2 ภายในผลต่ำกว่าและชะลอการสุกได้ดีกว่าชุดไม่เคลือบผิวระหว่างการเก็บรักษาการผลิต O2 H4 จะเพิ่มขึ้นในทุกชุดการทดลองและเริ่มลดลงในสัปดาห์ที่ 4 ผลการทดลองแสดงถึงการสุกของผลอยู่ภายใต้อิทธิพลของระดับ O2 ภายในผล แต่ไม่อยู่ภายใต้ระดับของ O2 H4

การทดลองวัดอัตราการหายใจและการผลิต C2 H4 ของผลสาลี่ พบว่าอัตราการผลิต C2 H4 ของผลหลังการเก็บเกี่ยว ในปี 2534 จะช้ากว่าในปี 2535 ผลสาลี่ในปี 2534 เริ่มผลิต C2 H4 หลังการเก็บเกี่ยวได้ 6 วัน และผลิตได้สูงสุดวันที่ 13-15 ของการเก็บเกี่ยว แต่ปี 2535 ผลสาลี่เริ่มผลิต C2 H4 หลังจากเก็บเกี่ยวได้ 4 วัน และผลิตได้สูงสุดวันที่ 9 ของการเก็บเกี่ยว ขณะเดียวกันผลสาลี่ในปี 2534 เกิด climacteric peak ของการหายใจที่ไม่เด่นชัดและผลไม่สุก ในขณะที่ปี 2535 ผลสุกใน 1 สัปดาห์ อัตราการผลิต C2 H4 หลังการเก็บเกี่ยวของผลสามารถใช้เป็นดัชนีความแก่ของผลทางสรีระของสาลี่พันธุ์นี้