บทคัดย่องานวิจัย

วิธีการคัดแยกมังคุดเนื้อแก้วแบบไม่ทำลายผล โดยใช้ความถ่วงจำเพาะและเอ็กซเรย์ คอมพิวท์โทโมกราฟฟี

รังสินันท์ พอดี

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2541. 73 หน้า.

2541

บทคัดย่อ

วิธีการคัดแยกมังคุดเนื้อแก้วแบบไม่ทำลายผล โดยใช้ความถ่วงจำเพาะ และเอ็กซเรย์ คอมพิวท์ โทโมกราฟฟี

จากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงค่าความถ่วงจำเพาะของผลมังคุดที่มีความแก่ 3 ระดับ และภายหลังการเก็บเกี่ยวเป็นระยะเวลา 0, 2, 4 และ 6 วัน พบว่าผลมังคุดทั้ง 3 ระดับความแก่มีค่าความถ่วงจำเพาะไม่แตกต่างกันทางสถิติ แต่ค่าความถ่วงจำเพาะของผลมังคุดมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ระยะเวลาหลังการเก็บเกี่ยวอย่างมีนับสำคัญทางสถิติ เมื่อศึกษาเปรียบเทียบค่าความถ่วงจำเพาะของผลมังคุดเนื้อปกติและผลมังคุดที่มีลักษณะภายในผิดปกติ พบว่าผลที่มีอาการเนื้อแก้ว เนื้อแก้วร่วมกับยางไหล และผลที่มีอาการยางไหล มีค่าความถ่วงจำเพาะเฉลี่ยสูงกว่าผลมังคุดที่มีเนื้อปกติตามลำดับ เมื่อใช้ค่าความถ่วงจำเพาะที่แตกต่างกัน 4 ค่า ได้แก่ 0.980, 1.000, 1.016 และ 1.020 ในการคัดแยกมังคุดปกติและมังคุดที่มีอาการผิดปกติภายในผล พบว่าที่ค่าความถ่วงจำเพาะ 0.980 สามารถคัดแยกผลที่มีอาการเนื้อแก้วทุกระดับออกไปได้มากกว่าร้อยละ 95 และสามารถคัดผลที่เป็นยางไหลออกไปได้ร้อยละ 89 ของผลที่มีอาการข้างต้นทั้งหมด ส่วนผลมังคุดที่คัดผิดพลาดพบว่าเป็นผลปกติที่มีน้ำในเปลือกสูง และผลผิดปกติที่มีโพรงอากาศในเนื้อจากเมล็ดที่ฝ่อและเนื้อฟ่าม

วิธีการตรวจสอบมังคุดเนื้อแก้ว ยางไหล เนื้อแก้วร่วมกับยางไหล และผลปกติ โดยใช้ X-ray CT สามารถให้ภาพที่แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างผลปกติกับผลผิดปกติลักษณะต่าง ๆ และภาพ X-ray ยังสามารถแสดงให้เห็นน้ำที่มีในเปลือกผลปกติมาก และผลผิดปกติที่มีโพรงอากาศภายในเนื้อผลจากเมล็ดฝ่อและเนื้อฟ่ามได้ เลข CT ที่อ่านได้ในบริเวณเนื้อที่มีอาการผิดปกติลักษณะต่าง ๆ มีค่าแตกต่างกันทางสถิติ และสามารถบ่งบอกอาการผิดปกติของแต่ละลักษณะในตำแหน่งนั้น ๆ ได้