บทคัดย่องานวิจัย

การใช้เทคนิค X-ray ตรวจสอบความแก่ของผลทุเรียน

กัลย์ กัลยาณมิตร

วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2541. 107 หน้า.

2541

บทคัดย่อ

การใช้เทคนิค X-ray ตรวจสอบความแก่ของผลทุเรียน

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการแบ่งระดับความแก่ของผลทุเรียนได้ถูกต้องแม่นยำโดยวิธีไม่ทำลายผล แต่อาจใช้ประสบการณ์ประเมินความแก่ของผลจากอายุ และลักษณะภายนอกซึ่งเป็นวิธีการแบบจิตวิสัย (subjective) ดังนั้น การพัฒนาวิธีการแบบวัตถุวิสัย (objective) ที่ระบุค่าเป็นตัวเลขที่แน่นอนอาจเป็นวิธีหนึ่งที่ให้ผลดีกว่า ในการวิจัยนี้เป็นการศึกษาเพื่อหาแนวทางในการใช้เทคนิค X-ray Computed Tomography (X-ray CT) ในทางการแพทย์มาประยุกต์ใช้ตรวจสอบคุณภาพของผลทะเรียนแบบวัตถุวิสัย โดยการวัดค่าการดูดกลืน X-ray photon ของเนื้อผลภายในที่มีองค์ประกอบที่ต่างกันตามระดับความแก่ ค่าการดูดกลืน X-ray photon อ่านได้เป็นค่า CT numbers ซึ่งถูกนำไปหาความสัมพันธ์กับระดับความแก่ที่จัดแบ่งโดยวิธีการประเมินโดยกรรมการชิมเนื้อผลในวันที่เก็บเกี่ยวผลิตผล โดยแบ่งระดับความแก่เป็น 6 ระดับ ความแก่สูงสุดให้เป็น 100 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ 90, 80, 70, 60 และ 50 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ผลจากการประเมินพบว่าผู้ชิมสามารถแบ่งระดับความก่ได้อย่างมีนับสำคัญที่ทุกระดับความแก่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบเกณฑ์เปอร์เซ็นต์ระดับความแก่นี้กับเกณฑ์ระดับความแก่ซึ่งประเมินโดยผู้ชำนาญในการตัดและคัดผลทุเรียนพบว่า มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทุกระดับความแก่ เมื่อนำผลการชิมมาประเมินการจัดกลุ่มความแก่ โดยใช้การนับอายุผลหลังดอกบาน และการนับระยะเวลาที่ใช้ในการสุกพบว่าวิธีการทั้ง 2 มีความแปรปรวนสูง ขณะที่ผลการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีพบว่าปริมาณ soluble solids ปริมาณน้ำตาลทั้งหมด และปริมาณคาร์โบไฮเดรต สามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการแยกแต่ละระดับของความแก่ได้อย่างมีนับสำคัญทางสถิติ เมื่อประเมินโดยการชิมผลเมื่อสุก

ในการตรวจสอบคุณภาพแบบไม่ทำลายโดยเทคนิค X-ray CT พบว่าภาพของเนื้อผลอ่อนที่ระดับ 50 เปอร์เซ็นต์ ทึบดำที่สุด และความดำจะลดลงตามระดับความแก่ที่มากขึ้นจนขาวสว่างที่สุดเมื่อผลมีความแก่ 100 เปอร์เซ็นต์ ค่า CT numbers ที่ -43 สามารถแยกผลที่ระดับความแก่ 70 เปอร์เซ็นต์ ออกจากความแก่ 60 และ 50 เปอร์เซ็นต์ได้ ส่วนระดับความแก่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป มีค่า CT numbers เพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่ไม่สามารถแยกระดับความแก่ได้อย่างมีนัยสำคัญ