บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการเก็บรักษาในสภาพควบคุมบรรยากาศที่มีผลต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาของผลมะม่วง (Magnifera induica L.) พันธ์เขียวเสวยและน้ำดอกไม้

คุณวุฒิ สุวพานิช

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2540.184 หน้า.

2540

บทคัดย่อ

ผลของการเก็บรักษาในสภาพควบคุมบรรยากาศที่มีต่อคุณภาพและอายุการ เก็บรักษาของผลมะม่วง

การศึกษาผลของการเก็บรักษามะม่วงพันธุ์เขียวเสวยและพันธุ์น้ำดอกไม้ในสภาพควบคุมบรรยากาศ ได้กระทำ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกนำมะม่วงที่ทำการเก็บเกี่ยวในช่วงต้นฤดู (มีนาคม - เมษายน) ที่แก่แต่ยังดิบอยู่ (mature green stage) จากแหล่ง อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา มาผ่านการแช่ด้วยสารละลายเบนโนมิลเข้มข้น 1000 ส่วนต่อล้าน อุณหภูมิ 52 - 55o ซ นาน 5 นาที แล้วนำไปเก็บรักษาไว้ในตู้พลาสติกขนาด 100 ลิต ที่มีการปรับสภาพบรรยากาศให้แตกต่างกัน จำนวน 7 ตู้ ซึ่งมีปริมาณของก๊าซดังนี้ ตู้ที่ 1 O2 3% - 5%, CO2 3% - 5%, ตู้ที่ 2 O2 3% - 5%, CO2 7% - 9%, ตู้ที่ 3 O2 3% - 5%, CO2 11% - 13%, ตู้ที่ 4 O2 7% - 9%, CO2 3% - 5%, ตู้ที่ 5 O2 7% - 9%, CO2 7% - 9%, ตู้ที่ 6 O2 7% - 9%, CO2 11% - 13% สำหรับตู้ที่ 7 ใช้เป็นชุดควบคุมซึ่งมีปริมาณของก๊าซเท่าอากาศปกติ และเก็บรักษาตู้ทั้งหมดในห้องเย็นที่มีอุณหภูมิ 13o ซ ความชื้นสัมพัทธ์ 75 เปอร์เซ็นต์ เป็นระยะเวลานาน 24 และ 30 วัน สำหรับมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้และพันธุ์เขียวเสวยตามลำดับ โดยสุ่มผลมะม่วงทุก ๆ 6 วัน ออกมาตรวจสอบคุณภาพด้านต่าง ๆ อันได้แก่ การสูญเสียน้ำหนัก ความแน่นเนื้อ สีผิว สีเนื้อ ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ ปริมาณกรดที่ไตเตรตได้ และการประเมินรสชาติด้วยการชิมจากการทดลองพบว่าสามารถเก็บรักษามะม่วงพันธุ์เขียวเสวยในบรรยากาศที่มี O2 3% - 5%, CO2 3% - 5% ได้นาน 24 วัน โดยมีค่าความแน่นเนื้อและคะแนนการยอมรับด้านรสชาติ อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ส่วนมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ สามารถเก็บรักษาในบรรยากาศที่มี O2 3% - 5%, CO2 3% - 5% ได้นาน 24 วัน โดยมีคุณภาพผลใกล้เคียงกัน และสุกเป็นปกติในสภาพอุณหภูมิห้อง (25 - 31o ซ ) ความชื้นสัมพันทธ์ประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลา 4 วัน และมีคุณภาพดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการเก็บรักษาแบบอื่น ส่วนการทดลองที่ 2 ใช้ผลมะม่วงที่เก็บเกี่ยวในช่วงปลายฤดู (มิถุนายน) จากแหล่ง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มาเก็บรักษาแบบเดิมแต่ลดวิธีการลงเหลือ 3 กรรมวิธี โดยปรับสภาพบรรยากาศให้มีความแตกต่างกันคือ ตู้ที่ 1 O2 3% - 5%, CO2 3% - 5% ตู้ที่ 2 O2 5% - 7%, CO2 5% - 7% ตู้ที่ 3 O2 7% - 9%, CO2 7% - 9% สำหรับมะม่วงชุดควบคุม เก็บรักษาไว้ในบรรยากาศปกติของห้องเย็นที่มีอุณหภูมิ 13oซ และความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ จากการเก็บรักษาเป็นระยะเวลา 12 วัน การเปลี่ยนแปลงคุณภาพด้านต่าง ๆ มีแนวโน้มใกล้เคียงกับการทดลองแรก โดยผลมะม่วงทั้งสองพันธุ์ที่เก็บรักษาในบรรยากาศที่มี O2 5% - 7%,

CO2 5% - 7% มีคุณภาพด้านต่าง ๆ ดีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น แต่หลังจากเก็บรักษานาน 18 วัน ปรากฏว่า ผลมะม่วงทั้งสองพันธุ์เกิดโรคขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้คุณภาพด้านต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งน่าจะมีสาเหตุจากคุณภาพและปริมาณสะสมโรคของผลมะม่วงที่เก็บเกี่ยวในช่วงปลายฤดู ผลจากการศึกษาสรุปได้ว่า คุณภาพเริ่มต้นของมะม่วงมีผลอย่างมากต่อการเก็บรักษาในสภาวะควบคุมบรรยากาศ ซึ่งสภาพควบคุมบรรยากาศสามารถเก็บรักษาผลมะม่วงพันธุ์ น้ำดอกไม้และมะม่วงพันธุ์เขียวเสวยได้ดีกว่าการเก็บรักษาโดยการใช้ความเย็นที่อุณหภูมิ 13oซ เพียงอย่างเดียว โดยมะม่วงพันธุ์เขียวเสวยที่มีคุณภาพเริ่มต้นดี จะมีอายุการเก็บรักษานาน 24 วัน และมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้มีอายุเก็บรักษานาน 24 วัน และสุกเป็นปกติในสภาพอุณหภูมิห้อง ภายในระยะเวลา 4 วัน โดยผลมะม่วงทั้งสองพันธุ์มีคุณภาพภายหลังการเก็บรักษาและคุณภาพในการรัรบประทานเป็นที่ยอมรับ และไม่เกิดอาการผิดปกติ เช่น กลิ่นหรือรสชาติผิดปกติ อาการสุกผิดปกติ หรืออาการผิดปกติทางสรีรวิทยาอื่นใด