นักวิจัยไทยสำเร็จนำตัวอ่อนหอยมุกน้ำจืด เลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ครั้งแรกในโลก

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 26 มกราคม 54
นักวิจัยไทยสำเร็จนำตัวอ่อนหอยมุกน้ำจืด เลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ครั้งแรกในโลก

หลังจากที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ร่วมกับสถานีวิจัยประมงน้ำจืด คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และองค์กรเครือข่าย ทำการศึกษาวิจัยในการเลี้ยงหอยมุกน้ำจืด ล่าสุดประสบผลสำเร็จในการนำตัวอ่อนของหอยมุกน้ำจืดพันธุ์หอยกาบใหญ่ และหอยขาวระยะโกคีเดียมาเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์เป็นครั้งแรกในโลก ต้งเป้าปี 2554 จะขอทุนวิจัยและจัดตั้งศูนย์เพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืด เพื่อเป็นที่จัดอบรมการเพาะเลี้ยงให้แก่เกษตรกรในอนาคต


ผศ.ดร.สาธิต โกวิทวที หัวหน้าสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) เจ้าของรางวัลนักวิจัยดีเด่นของ มบส. ในงานวันคล้ายวันพิราลัยสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และครบรอบ 115 ปี มบส.เมื่อวันที่ 19 มกราคม บอกว่าหลังจากที่เขาได้ศึกษาวิจัยเรื่อง “การเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืด” มาหลายปี จนสามารถผลิตหอยมุกน้ำจืดสายพันธุ์ของไทยที่มีความสวยงาม และเพียงพอต่อความต้องการ

"ประเทศไทยมีหอยมุกน้ำจืดตามธรรมชาติเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ที่ผ่านมาเราต้องนำเข้าจากประเทศจีน เพื่อนำมาแปรรูปเป็นสินค้าและส่งออกขายต่างประเทศ ล่าสุดภาคสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ มบส.ได้ร่วมมือกับ สถานีวิจัยประมงน้ำจืด คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม และองค์กรเครือข่าย วิจัยการเพาะเลี้ยงหอยมุกในระดับอุตสาหกรรม โดยนำตัวอ่อนจากแม่มาเพาะเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ จากนั้นนำตัวอ่อนที่แข็งแรงมาเลี้ยงให้เป็นตัวเต็มวัยภายในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของ มบส.นาน 90 วัน แล้วจึงปล่อยลงในน้ำจืดของสถานีวิจัยประมงน้ำจืด เพื่อให้หอยมุกเจริญเติบโตตามธรรมชาติจนได้อายุ 1-3 ปี ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมได้" ผศ.ดร.สาธิต กล่าว

ส่วนผลการวิจัยที่ผ่านมา ผศ.ดร.สาธิต ยืนยันว่า ได้หอยมุกมีความสวยงาม สามารถนำไปแปรรูปในอุตสาหกรรมได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอัญมณี เฟอร์นิเจอร์ ส่วนประกอบในฟันปลอม กระดูกเทียมสำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด และอุตสาหกรรมเครื่องสำอางบำรุงผิว ซึ่งจากการได้ค้นพบการเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดให้มีความแข็งแรงกว่าปล่อยให้ผสมพันธุ์และเจริญเติบโตเองตามธรรมชาติ ซึ่งจะมีอัตราการตายสูงมาก

ล่าสุดหัวหน้าสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มบส.บอกว่า ผลการวิจัยสามารถเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดพันธุ์หอยกาบใหญ่ และหอยขาว ด้วยนำตัวอ่อนระยะโกคีเดียมาเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์สำเร็จเป็นครั้งแรกในโลก และยังเพาะเลี้ยงหอยมุกสายพันธุ์ของไทยได้อีก 5 ชนิด ที่สามารถควบคุมการผลิต สิ่งแวดล้อม การเจริญพันธุ์ การเจริญเติบโต ได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่พ่อแม่พันธุ์ การผลิตตัวอ่อนระยะโกคีเดีย และระยะจูวีไนล์ รวมถึงการเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดจนถึงระยะตัวเต็มวัยด้วย


"ผลการวิจัยในครั้งนี้มีความหมายมาก ต่อไปเราจะได้ฟาร์มต้นแบบสำหรับการผลิตหอยมุกน้ำจืดอย่างครบวงจร ที่เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจสามารถนำไปก่อสร้างและดำเนินการผลิตได้ด้วยตนเองในระยะยาว เพื่อเป็นการสร้างรายได้และเป็นช่องทางการผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจในอนาคต และที่สำคัญผู้วิจัยต้องการให้มีการขยายพันธุ์หอยมุกน้ำจืดที่นำสู่การอนุรักษ์ด้วย ดังนั้นในปี 2554 จึงดำเนินการขอทุนวิจัยและจัดตั้งศูนย์เพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดที่มหาวิทยาลัยเกษตรวิทยาเขตกำแพงแสน และเพื่อจัดอบรมการเพาะเลี้ยงให้แก่เกษตรกรต่อไป" ผศ.ดร.สาธิต กล่าว

ความสำเร็จในการวิจัยเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดในครั้งนี้ เป็นนิมิตใหม่ที่ดีสำหรับวงการเกษตรไทย ที่จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเกษตรกรที่จะนำไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้ครอบครัวในอนาคต

ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 26 มกราคม 2554
http://www.komchadluek.net/detail/20110126/86878/นักวิจัยไทยสำเร็จนำตัวอ่อนหอยมุกน้ำจืดเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ครั้งแรกในโลก.html