เคล็ดความสำเร็จของเกษตรกร

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 19 มกราคม 54
เคล็ดความสำเร็จของเกษตรกร

สาเหตุของความยากจนของเกษตรกรไทยนั้นปัจจัยหนึ่งคือการมีรายได้ที่ไม่แน่นอน เพราะต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติ โรคระบาดอยู่เสมอ ซึ่งยากที่จะคาดเดาและรับมือได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และส่งผลกระทบอย่างมากกับเกษตรกรก็คือ ความผันผวนของราคาผลผลิตทางการเกษตร ทั้งผลผลิตพืชและปศุสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นไก่เนื้อ ไก่ไข่ หรือสุกร ที่เดี๋ยวสูงเดี๋ยวต่ำ ที่สำคัญช่วงที่ราคาตกต่ำมักจะยาวนาน กว่าช่วงที่ราคาสูง คำถามก็คือจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนาภาคการเกษตรควบคู่กันไป เพื่อให้ก้าวสู่ความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน ทำอย่างไรเกษตรกรจึงไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ขณะเดียวกันก็มีอาชีพที่มั่นคง เหล่านี้เป็นคำถามที่มีให้ได้ยินกันบ่อยครั้ง แต่ก็ยังมีเกษตรกรที่มีความพอใจกับความมั่นคงของรายได้ในอาชีพของตนเอง

เมื่อวันก่อนได้ไปที่จังหวัดลพบุรี ที่บ้านเลขที่ 65/4 หมู่ 6 ต.โคกตูม อ.เมือง ได้พบกับ รัตน์ศักดิ์ จันทร์สด เกษตรกร ผู้ผันตัวเองจากเซียนพระเครื่องมาเป็นเกษตรกรเจ้าของฟาร์มเลี้ยงหมู เขาเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นว่า ก่อนจะมาเป็นเกษตรกรเคยทำธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับการเช่าบูชาพระเครื่องอยู่ที่กรุงเทพฯ จนได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจฟองสบู่แตกปี 2540 ธุรกิจพระเครื่องก็ซบเซาจนต้องเลิกกิจการไป จึงตัดสินใจแต่งงานและย้ายมาอยู่กับครอบครัวที่จังหวัดลพบุรี และยึดอาชีพทำไร่เป็นหลัก ซึ่งเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงต่อการขาดทุน จึงต้องมองหาลู่ทางที่สร้างความมั่นคงให้มากขึ้น จนเมื่อได้ปรึกษากับเพื่อนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับจ้างเลี้ยงกับบริษัทเอกชนใหญ่บริษัทหนึ่งอยู่ก่อนแล้วและได้แนะนำเขาให้ลองทำดู รัตน์ศักดิ์ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการในปี 2542 โดยไม่มีความรู้เรื่องเลี้ยงหมูมาก่อนเลย แต่ก็ได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการกับสัตวบาลของบริษัทมาช่วยถ่ายทอดความรู้ ให้ และช่วยแนะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการผลิต ทำให้มีรายได้ที่มั่นคงและดีขึ้นมาโดยตลอด

เมื่อแรกเริ่มเลี้ยงหมูยังเป็นระบบเปิด จนกระทั่งบริษัทได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนเป็นระบบโรงเรือนปิดปรับอากาศ ด้วยการระเหยน้ำ หรือ ระบบอีแวป-Evap (Evaporative Cooling System) ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมกับความต้องการของหมูในแต่ละช่วงอายุ โดยสามารถช่วยลดระยะเวลาการเลี้ยงจากเดิมที่ใช้เวลากว่า 6 เดือน เหลือเพียง 20-21 สัปดาห์ เท่ากับสามารถเลี้ยงหมูขุนได้มากกว่า 2 รุ่นในหนึ่งปี ประกอบกับลูกหมูที่บริษัทส่งมาให้เลี้ยงเป็นหมูพันธุ์ดี และเลี้ยงด้วยความเอาใจใส่ ทำให้ผลผลิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้การที่บริษัทรับซื้อผลผลิตคืนและจัดการด้านการตลาดทั้งหมด ทำให้ได้ประสิทธิภาพการเลี้ยงตามมาตรฐานที่บริษัทกำหนด สามารถผลิตหมูที่มีคุณภาพ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องตลาด เกิดความมั่นคงด้านราคาผลิตและรายได้ อีกทั้งยังเป็นอาชีพที่ยั่งยืนสามารถส่งต่อเป็นมรดกให้กับลูก ๆ ได้อีกด้วย

ความสำเร็จของรัตน์ศักดิ์ ชี้ให้เห็นว่าสิ่งสำคัญของโครงการส่งเสริมอาชีพฯ ก็คือ ความจริงใจและความซื่อสัตย์ของทั้งบริษัทและเกษตรกร ที่จะทำให้เกิดความสำเร็จทั้งสองฝ่าย คือเกษตรกรได้รับการประกันรายได้ที่แน่นอนจากการขายผลผลิต และยังได้รับการช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ อาหาร การจัดการ จากบริษัทด้วย ในขณะที่บริษัทจะได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพตามต้องการ ช่วยลดการสูญเสียในการผลิต ด้านราคาและปริมาณผลผลิตที่ได้ก็มีเสถียรภาพ ส่งผลดีแก่ผู้บริโภคที่จะได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน.

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 19 มกราคม 2554
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=663&contentID=116130