บทคัดย่องานวิจัย

ปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์และอุปทานการส่งออกไก่สดแช่แข็งของไทยไปญี่ปุ่น

สุลี จิตรวะรัตนา

วิทยานิพนธ์ (ศ.ม.) เศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2539. 86 หน้า.

2539

บทคัดย่อ

ปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์และอุปทานการส่งออกไก่สดแช่แข็งของไทยไปญี่ปุ่น

ไก่สดแช่แข็งเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรที่สำคัญอุตสาหกรรมหนึ่งของไทย โดยผลิตเพื่อการส่งออกร้อยละ 15 – 20 ของปริมาณการผลิตไก่เนื้อของประเทศซึ่งส่งออกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 มีประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าถึงร้อยละ 80 –85 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดของประเทศ วัตถุประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้เพื่อศึกษาปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์และอุปทานการส่งออกไก่สดแช่แข็งของประเทศไทยไปญี่ปุ่นและเพื่อการศึกษาความยืดหยุ่นของปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์และอุปทานการส่งออกไก่สดแช่แข็งของประเทศไทยไปญี่ปุ่น ส่วนวิธีการศึกษาเชิงปริมาณโดยวิเคราะห์แบบเส้นถดถอยเชิงซ้อนที่ประมาณค่าโดยใช้วิธีกำลังสองน้อยที่สุดอุปสงค์การส่งออกไก่สดแช่แข็งของไทยไปญี่ปุ่นขึ้นอยู่กับราคาเปรียบเทียบระหว่างราคาส่งออกไก่สดแช่แข็งของไทยในตลาดญี่ปุ่นกับราคาประเทศคู่แข่งเมื่อปีที่แล้ว รายได้ประชาชาติที่แท้จริงของญี่ปุ่น และอัตราแลกเปลี่ยนโดยการเปลี่ยนแปลงตัวแปรเหล่านั้นสามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงปริมาณความต้องการการส่งออกไก่สดแช่แข็งของไทยไปญี่ปุ่น ประมาณ 99.51% ซึ่งราคาเปรียบเทียบระหว่างราคาส่งออก ไก่สดแช่แข็งของไทยในตลาดญี่ปุ่นกับราคาประเทศคู่แข่งเมื่อปีที่แล้วมีความสัมพันธ์กับอุปสงค์การส่งออกในทิศทางตรงกันข้าม มีค่าความยืดหยุ่น – 0.9245 ด้วยระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 และรายได้ประชาชาติที่แท้จริงของญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กับอุปสงค์การส่งออกในทิศทางเดียวกัน มีค่าความยืดหยุ่น 2.4714 ด้วยระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 99 ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนมีความสัมพันธ์กับอุปสงค์การส่งออกในทิศทางตรงกันข้าม มีค่าความยืดหยุ่น –1.1613 ด้วยระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 99 ส่วนอุปทานการส่งออกไก่สดแช่แข็งของไทยไปสู่ญี่ปุ่น ขึ้นอยู่กับราคาเปรียบเทียบระหว่างราคาส่งออกไก่สดแช่แข็งของไทยไปตลาดญี่ปุ่นกับราคาขายปลีกภายในประเทศเมื่อปีที่แล้ว และปริมาณการผลิตไก่เนื้อในประเทศไทย โดยการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรเหล่านั้นสามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงปริมาณการ ส่งออกไก่สดแช่แข็งของไทยไปญี่ปุ่นประมาณ 89.47% ซึ่งราคาเปรียบเทียบระหว่างราคาส่งออกไก่สดแช่แข็งของไทยไปตลาด ญี่ปุ่นกับราคาขายปลีกภายในประเทศเมื่อปีทีแล้วมีความสัมพันธ์กับอุปทานการส่งออกในทิศทางเดียวกัน มีค่าความยืดหยุ่น 2.5621 ด้วยระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 99 ส่วนปริมาณการผลิตไก่เนื้อ ในประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับอุปทานการส่งออกในทิศทางเดียวกัน มีค่าความยืดหยุ่น 1.690 ด้วยระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 99