บทคัดย่องานวิจัย

โครงสร้างตลาดของอุตสาหกรรมไก่เนื้อในประเทศไทย

อรรถวุฒิ ไสยเจริญ

วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์สหกรณ์) มหาวิทยาลัยแม่โจ้, 2537. 236 หน้า.

2537

บทคัดย่อ

โครงสร้างตลาดของอุตสาหกรรมไก่เนื้อในประเทศไทย การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาถึงโครงสร้างตลาดของอุตสาหกรรมที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงไก่เนื้อโดยตรง อุตสาหกรรมดังกล่าวได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์สำเร็จรูป อุตสาหกรรมผลิตลูกไก่ และอุตสาหกรรมโรงฆ่า/ชำแหละไก่ นอกจากนี้ยังรวมถึงการศึกษาโครงสร้างของผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ตลอดจนส่วนผสมการตลาดและการรวมตัวของธุรกิจอุตสาหกรรมไก่เนื้อในประเทศไทย ผลจากการวิจัยพบว่า อุตสาหกรรมที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงไก่เนื้อในประเทศไทยมีระดับการกระจุกตัวและโครงสร้างตลาดแตกต่างกัน โดยอุตสาหกรรมอาหารสัตว์สำเร็จรูปมีการกระจุกตัวในระดับปานกลางค่อนข้างสูง มีลักษณะโครงสร้างตลาดแบบผูกขาดโดยผู้ขายน้อยรายหรือกึ่งผู้ผลิตน้อยราย (quasi-oligopoly) อุตสาหกรรมการผลิตลูกไก่มีการกระจุกตัวในระดับปานกลาง มีลักษณะโครงสร้างตลาดแบบผู้ขายน้อยราย (oligopoly) และอุตสาหกรรมโรงฆ่าไก่หรือกลุ่มผู้ผลิตไก่สดภายในประเทศมีการกระจุกตัวในระดับต่ำ มีลักษณะโครงสร้างตลาดแบบผู้ขายมากราย (monopolistic competition) ส่วนอุตสาหกรรมไก่สดแช่แข็งเพื่อการส่งออก ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถนำค่าทางสถิติมาวิเคราะห์ได้ก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากจะต้องคำนึงถึงผู้ผลิตส่งออกจำนวนมากจากต่างประเทศ แต่พอสรุปได้ว่ามีลักษณะโครงสร้างตลาดแบบผู้ขายมากราย (monopolistic competition) เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมโรงฆ่าไก่ในด้านของผู้เลี้ยงไก่เนื้อ เมื่อพิจารณาในแง่ของผลดีและผลเสียแล้ว พบว่าการเลี้ยงแบบอิสระจะมีผลดีมากกว่าการเลี้ยงแบบมีสัญญาผูกพันกับบริษัท ดังนั้นสำหรับผู้มีเงินทุนเป็นของตนเองมีการเลี้ยงเป็นจำนวนมากกล้าเสี่ยง และมีประสบการณ์ควรจะเลี้ยงแบบอิสระ แต่สำหรับผู้มีเงินทุนน้อยควรจะเลี้ยงแบบมีสัญญา (แบบประกันราคา หรือแบบรับจ้างเลี้ยง) เพราะการทำสัญญาร่วมกันระหว่างผู้เลี้ยงกับบริษัทเมื่อมองโดยเฉลี่ยในระยะยาวแล้วจะได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย สำหรับการรวมตัวของธุรกิจอุตสาหกรรมไก่เนื้อ พบว่า มีลักษณะการรวมตัวแบบแนวดิ่ง (vertical integration) ทั้งในลักษณะการรวมตัวไปทางด้านหลัง (backward) และการรวมตัวไปทางด้านหน้า (forward) โดยมีกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรทั้งหมด 8 รายด้วยกัน มีสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการรวมตัวในลักษณะดังกล่าวคือ 1) การแข่งขันด้านการตลาด 2) การควบคุมความเสี่ยง 3) ความจำเป็นในการลดต้นทุนการผลิต และ 4) ผลจากมาตรการของรัฐบาลในอดีต จากการวิเคราะห์ความแตกต่างของการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมพบว่า ธุรกิจแต่ละประเภทในอุตสาหกรรมไก่เนื้อ ผู้ผลิตที่สามารถครอบครองส่วนแบ่งตลาดในอันดับสูงได้นั้น จะเป็นผู้ที่ดำเนินธุรกิจต่อเนื่องแบบแนวดิ่งครบวงจรเป็นเป็นใหญ่ ส่วนกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจเพียงขั้นตอนเดียว จะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มาก และมีความสามารถในการบริหารงานสูง จึงจะสามารถครอบครองส่วนแบ่งตลาดในอันดับสูงได้ ดังนั้น ผู้ผลิตที่ต้องการส่วนแบ่งตลาดและกำไรที่มากพอ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้เงินทุนจำนวนมากและการจัดองค์กรธุรกิจต่อเนื่องแบบครบวงจรเช่นเดียวกับธุรกิจรายใหญ่ที่ทำอยู่แล้ว