ขึ้นทะเบียนฟาร์มตามอนุสัญญาไซเตส

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 54
ขึ้นทะเบียนฟาร์มตามอนุสัญญาไซเตส

ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของสัตว์ป่า และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ มีพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เป็นกฎหมายที่ใช้ในการควบคุมการนำเข้าและส่งออกเพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของอนุสัญญาไซเตส มากว่า 17 ปี ซึ่งรวมถึงสัตว์น้ำ ตามประกาศรายชื่อสัตว์ที่อยู่ในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญามี 3 ประเภท คือ

บัญชีที่ 1 คุ้มครองชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ห้ามทำการค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัย หรือขยายพันธุ์เทียม การนำเข้าส่งออก ต้องได้รับใบอนุญาตเสียก่อน โดยจะต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้น

บัญชีที่ 2 ชนิดพันธุ์ที่มีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์ อนุญาตให้ค้าขายระหว่างประเทศได้แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้เสียหายหรือจำนวน ประชากรลดปริมาณลงจนใกล้สูญพันธุ์ โดยประเทศที่จะส่งออกต้องควบคุมไม่ให้กระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์นั้น

บัญชีที่ 3 เป็นชนิดพันธุ์ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งซึ่งเป็นภาคีขอความร่วมมือจากประเทศภาคีอื่นให้ช่วยดูแล หากจะนำเข้าจะต้องมีหนังสือรับรองการส่งออกจากประเทศถิ่นกำเนิดเสียก่อน

ล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากข้อมูลของกรมประมงในหลายปีที่ผ่านมา พบว่าในปัจจุบันมีการนำสัตว์ในบัญชีไซเตส ที่ไม่ใช่สัตว์ประจำถิ่นของประเทศไทยจำนวนหนึ่งเข้ามาในประเทศ เช่น ปลาช่อน อะเมซอน ซึ่งมีถิ่นกำเนิดใน แม่น้ำอะเมซอน และลุ่มน้ำสาขาใน ทวีปอเมริกาใต้ สามารถเพาะขยายพันธุ์ในบ่อดินขนาดใหญ่ หรือปลาสเตอร์เจียนของรัสเซีย ซึ่งไข่ปลาชนิดนี้มีราคาแพงนำมาทำ “ไข่ปลาคาเวียร์” ตลอดจนมีการนำเข้าเต่าบางชนิด และด้วยความสามารถในการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์น้ำของคนไทย กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเหล่านี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการเพาะ เลี้ยง มีผลผลิตปริมาณมากเพียงพอที่จะจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ

ระบบกฎหมายของประเทศไทยที่ใช้อยู่ในขณะนี้มิได้กำหนดให้สัตว์น้ำตามบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาไซเตสที่ได้จากการนำเข้า จะต้องแจ้งการครอบครองหรือขออนุญาตเพาะพันธุ์ จึงขาดหลักฐานในการได้มาหรือขาดหลักฐานที่จะพิสูจน์ถึงที่มาของสัตว์น้ำดังกล่าว เพื่อประกอบการขออนุญาตในการส่งออก เนื่องจากสัตว์น้ำเหล่านั้นอาจมีการจำหน่ายหรือเปลี่ยนมือการครอบครองมาหลาย ครั้ง หรืออาจเป็นลูกที่ได้มาจากพ่อแม่พันธุ์ที่ได้จากการนำเข้า ซึ่งตามข้อกำหนดของไซเตส จะต้องมีการระบุที่มาของสัตว์น้ำชนิดนั้นโดยชัดเจนจากหน่วยงานภาครัฐที่มี อำนาจเพื่อออกใบอนุญาตส่งออกจากประเทศต้นทาง จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถส่งออกสัตว์น้ำเหล่านั้นได้เนื่องจากไม่สามารถระบุ ที่มาโดยชัดแจ้งได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการจัดวางระบบให้สามารถระบุถึงที่มาของสัตว์น้ำตามบัญชีไซเตส ที่นำเข้าและสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ในประเทศไทย กรมประมงจึงเปิดให้มีการขึ้นทะเบียนฟาร์มเพาะพันธุ์สัตว์ป่าที่เป็นสัตว์น้ำ อันมิได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย เพื่ออำนวยประโยชน์ให้สามารถส่งออกผลผลิตซึ่งเกิดจากการเพาะขยายพันธุ์ได้อย่างถูกต้องตามข้อกำหนดของไซเตส อันจะทำให้เกิดรายได้จากการนำเข้าอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนอนุญาตและจัดการประมง อาคารสำนักบริหารจัดการด้านการประมง (สจป.) กรมประมง เกษตรกลาง แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทร. 0-2562-0600 ต่อ 2103 หรือ 4023 โทรสาร 0-2561-4689 ในวันและเวลาราชการ.

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=340&contentID=120259