พัฒนาน้ำเชื้อสุกรแช่แข็ง เล็งขายให้ต่างประเทศ

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 54
พัฒนาน้ำเชื้อสุกรแช่แข็ง เล็งขายให้ต่างประเทศ

ศ.นสพ.ดร.มงคล เตชะกำพุ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สังกัดภาควิชาสูติศาสตร์ เธนุเวชวิทยาและวิทยาการสืบพันธุ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาน้ำเชื้อสุกรแช่แข็งเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร หลังได้รับทุนสนับสนุนจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในโครงการ “น้ำเชื้อสุกรแช่แข็ง: อิทธิพลของพ่อสุกร วิธีการแช่แข็ง วิธีการผสมเทียมและความสมบูรณ์พันธุ์ของแม่สุกรหลังการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อแช่แข็ง” และได้รับรางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2553

ศ.นสพ.ดร.มงคล เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรเป็นอุตสาหกรรมด้านปศุสัตว์ที่สำคัญของประเทศไทย โดยคนไทยบริโภคเนื้อสุกรปีละ 10-13 ล้านตัว และมีการส่งออกไปยังต่างประเทศในรูปสุกรมีชีวิตและเนื้อสุกรสดหรือผลิตภัณฑ์ ทำรายได้เข้าประเทศ การผลิตสุกรดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยพ่อและแม่พันธุ์ที่ดีเพื่อผลิตสุกรขุนที่มีคุณภาพ การพัฒนาการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อแช่แข็งจึงสามารถช่วยในการปรับปรุงพันธุ์ เก็บพันธุกรรมที่ดีของพ่อสุกร และการป้องกันโรคติดต่อทางระบบสืบพันธุ์ได้ เนื่องจากน้ำเชื้อสุกรแช่แข็งทำได้ค่อนข้างยากเมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์ เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ เช่น โค กระบือ แพะ และแกะ รวมทั้งไม่มีงานวิจัยด้านการแช่แข็งน้ำเชื้อสุกรในประเทศไทยและยังไม่เป็นที่ยอมรับ เนื่องจากอัตราผสมติดต่ำ จำนวนลูกต่อครอกต่ำ

ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาน้ำเชื้อแช่แข็งสุกรในประเทศไทย รวมทั้งศึกษาอัตราการผสมติดตั้งท้องและคลอดลูกหลังผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อแช่แข็ง เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสุกรในอนาคต ผลการวิจัยที่ได้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จเบื้องต้นของการผลิตน้ำเชื้อสุกร แช่แข็งในประเทศไทย โดยพบว่าการเติมสาร Equex STM ในสารละลายก่อนการแช่แข็ง มีผลต่อการเพิ่มคุณภาพน้ำเชื้อหลังการละลาย และตัวอสุจิของสุกรพันธุ์ยอร์กเชียร์มีแนวโน้มที่ไวต่อกระบวนการแช่แข็งและ ละลายมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ การนำน้ำเชื้อแช่แข็งไปผสมเทียมด้วยวิธีสอดท่อเข้าตัวมดลูกเป็นวิธีการที่เหมาะสมและให้ผลสัมฤทธิ์ที่ดี และเนื่องจากตัวอสุจิแช่แข็งมีอายุค่อนข้างสั้น การผสมเทียมให้ใกล้เวลาตกไข่จึงเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นการใช้ฮอร์โมนควบคุมการตกไข่ เช่น ฮิวแมนคลอริโอนิก โกนาโดโทรปิน (เอช ซี จี) หรือโกนาโดโทรปิน รีลิสซี่ง ฮอร์โมน (จี เอ็น อาร์ เอช) ทำให้สามารถกำหนดเวลาการผสมเทียมสำหรับน้ำเชื้อแช่แข็งได้แม่นยำยิ่งขึ้น ทั้งนี้การผสมเทียมดังกล่าวจะให้ผลอัตราการคลอดประมาณร้อยละ 60-65 โดยได้ลูกสุกรต่อครอกประมาณ 8-9 ตัว

ผลงานวิจัยนี้ได้รับความสนใจจากบริษัทผู้ค้าสุกรในประเทศ อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือเบทาโกร และเครือมิตรภาพ ในการนำไปต่อยอดใช้กับศูนย์ผลิตน้ำเชื้อและฟาร์มสุกร เพื่อประโยชน์ต่อวงการอุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรในประเทศ ทั้งนี้การใช้น้ำเชื้อแช่แข็งจากพ่อพันธุ์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมที่ดี จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากพ่อพันธุ์และให้ลูกสุกรเป็นที่ต้องการของตลาด

นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ในการนำสายพันธุ์ไปยังต่างประเทศในรูปการขายน้ำ เชื้อ อาทิ จีน เวียดนาม กัมพูชา ซึ่งจะมีมูลค่าสูงกว่าการขายน้ำเชื้อสด เนื่องจากการแช่แข็งน้ำเชื้อเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการรักษาพันธุกรรมของพ่อสุกรที่มีค่าทางพันธุกรรมดีเลิศ อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นแหล่งพันธุกรรมสุกรที่ดีที่สุดในทวีปเอเชีย มีระบบการจัดการที่ทันสมัยและมีสายพันธุ์สุกรที่ได้รับการพัฒนาเป็นที่ต้องการและยอมรับทั่วโลก

นับได้ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งสุกรอย่างครบวงจรนี้ ช่วยลดการนำเข้าเทคโนโลยีและน้ำเชื้อแช่แข็งจากต่างประเทศ ผลที่ได้อยู่ในระดับที่เท่าเทียมกับในต่างประเทศที่อยู่ระดับแถวหน้า ทั้งอัตราการคลอดและจำนวนลูกต่อครอก ทั้งนี้การแช่แข็งน้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์ 1 ตัว คิดเป็นมูลค่าน้ำเชื้อหากทำการซื้อขายมากกว่าที่ได้จากการขายน้ำเชื้อสด ประมาณ 1 เท่า และหากนำไปผสมและขายเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์และสุกรขุน รวมมูลค่าที่คาดว่าจะได้จากการขายคิดเป็นมูลค่าประมาณการเท่ากับ 27 ล้านบาท ต่อการรีดน้ำเชื้อ 1 ตัว.

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=659&contentID=119694