สกัดกระดูกอ่อนสัตว์เหลือทิ้ง สร้างชุดตรวจระดับสาร 'ชีวโมเลกุล'

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 31 มกราคม 54
สกัดกระดูกอ่อนสัตว์เหลือทิ้ง สร้างชุดตรวจระดับสาร 'ชีวโมเลกุล'

ปัจจุบันผู้คนบนโลกกลมๆใบนี้ มีอัตราเสี่ยง ต่อการเกิดโรคทั้ง มะเร็ง โรคตับ และ ข้อเสื่อม ซึ่งเป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตผู้คนกันมากขึ้น สาเหตุหนึ่งมาจากการใช้ชีวิตประจำวันและการบริโภคอาหาร ส่งผลให้แต่ละปีภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณค่อนข้างมหาศาลในการสั่งซื้ออุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ มาใช้ตรวจคัดกรองผู้ป่วย เพื่อรักษาให้ถูกทาง


ฉะนี้ รศ.ดร.ปรัชญา คงทวีเลิศ และคณะหน่วยวิจัยที่มีความเป็นเลิศทางด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อและเซลล์ต้นกำเนิด ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงศึกษาวิจัย "ชุดน้ำยาสำเร็จรูปเพื่อการตรวจวัดระดับสารชีวโมเลกุล" จากกระดูกอ่อนของสัตว์ชนิดต่างๆ โดย ศูนย์ไบโอเทค สวทช.ภาคเหนือ สกว. และ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุนวิจัย

รศ.ดร.ปรัชญา เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่าคนไทยเป็นโรคตับค่อนข้างมากและติดอันดับโลก ซึ่งการตรวจสอบจะใช้เทคนิค "ไบอ๊อกซี่" วิธีการดังกล่าวค่อนข้างเป็นปัญหาต่อการทำงานของแพทย์ในการคัดกรองผู้ป่วย ดังนั้น หากสามารถตรวจหาสารบ่งชี้ในโรคตับด้วยวิธีการตรวจเลือดน่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ประหยัดงบประมาณและใช้เวลารู้ผลได้เร็วขึ้น

จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลพบว่า กระดูกอ่อนที่เหลือทิ้ง หากนำมาผ่านขบวนการทางวิทยาศาสตร์ จะได้โปรตีนชนิดหนึ่ง สามารถจับได้กับสาร "ไฮยาลูโรแนน" หรือ HA (Hyaluronan, Hyaluronic Acid) ที่มีอยู่ในร่างกายคนเรา โดยเฉพาะที่ตับ ดังนั้น คณะวิจัยได้มุ่งทำการวิจัยแยกโปรตีนบริสุทธิ์ชนิดหนึ่งจากกระดูกอ่อน


"จากกระดูกอ่อนทั้งหมู วัว ไก่ ที่เหลือทิ้งตามตลาดหรืออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ รวมทั้งปลาฉลามซึ่งเป็นปลาชนิดเดียวที่ทั้งตัวมีแต่กระดูกอ่อน ซึ่งทีมวิจัยสามารถเตรียมโปรตีนชนิดนี้ได้ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยอยู่นานหลายปี กระทั่งเราสามารถเตรียมโปรตีนชนิดนี้ได้บริสุทธิ์ และที่สำคัญยังคงคุณสมบัติทางชีวเคมีในการจับอย่างจำเพาะกับ "สารไฮยาลูโรแนน" สามารถนำมาประยุกต์ใช้พัฒนาเป็นชุดน้ำยาสำเร็จรูปดังกล่าวได้"

สำหรับแนวทางการวิจัย เริ่มด้วยการแยกโปรตีนที่ต้องแยกมาจากกระดูกอ่อนของสัตว์ จากนั้นนำมาทำให้บริสุทธิ์ด้วยเทคนิคทางชีวเคมี กระทั่งได้สารสำคัญที่ใช้ในชุดน้ำยาดังกล่าว แล้วนำมาประยุกต์พัฒนา ออกมาเป็น "ชุดน้ำยาสำเร็จรูปเพื่อการตรวจวัดระดับ สารชีวโมเลกุล" ซึ่งขั้นตอนการทำงานนั้น แพทย์จะเจาะเลือดเล็กน้อย แล้วนำไปปั่นแยกซีรั่ม ผสมกับโปรตีน HA (ชุดตรวจสอบ) สามารถรู้ผลภายใน 3 ชั่วโมง ในระดับ "นาโนกรัม" อันเป็นที่น่าเชื่อถือ สามารถใช้ในการคัดกรอง วินิจฉัย และติดตามผลการรักษาข้ออักเสบ ข้อเสื่อม มะเร็ง และโรคตับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคตับแข็ง อีกทั้งให้ผลเร็วกว่าการใช้เทคนิค "ไบอ๊อกซี่" ที่ต้องรอผลประมาณ 7 วัน

งานวิจัยดังกล่าวนอกจากเป็นการเพิ่มมูลค่ากระดูกอ่อนจากการเหลือทิ้งจากตลาดสด และอุตสาหกรรม ยังเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศ ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลจุฬาฯได้ทำการวิจัยเพื่อคัดกรองผู้ป่วย ที่มีสาเหตุอันเนื่องมาจากปัจจัยอื่น นอกเหนือจากการดื่มสุรา และการทดสอบเปรียบเทียบกับเครื่องมือ "ไฟโบสแกน" ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่การตรวจคัดกรองจะต้องใช้เงินค่อนข้างมากในการตรวจการทำงานของตับ และทางประเทศในแถบยุโรป ญี่ปุ่น ได้ติดต่อขอทดลองใช้ชุดตรวจสอบดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับรางวัลประเภทผลงานประดิษฐ์คิดค้นดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีพิธีมอบรางวัลจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี งานวันนักประดิษฐ์ ในวันที่ 2–5 กุมภาพันธ์ ณ อิมแพค เมืองทองธานี.

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 31 มกราคม 2554
http://www.thairath.co.th/content/edu/145271