บทคัดย่องานวิจัย

คุณภาพของน้ำชนิดต่างๆ ที่มีผลต่ออายุปักแจกันของดอกกุหลาบ

ลพ ภวภูตานนท์

วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2529. 154 หน้า.

2529

บทคัดย่อ

คุณภาพของน้ำชนิดต่าง ๆ ที่มีผลต่ออายุปักแจกันของดอกกุหลาบ การศึกษาผลกระทบของคุณภาพของน้ำที่มีต่ออายุปักแจกันและประสิทธิภาพของสารเคมีที่ใช้ในการยืดอายุการปักแจกันของดอกกุหลาบสีแดงพันธุ์ Christian Dior จากสวนเกษตรกร อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2528 ถึงเดือนมีนาคม 2529 พบว่าน้ำที่มีคุณภาพเลวได้แก่ น้ำประปาและน้ำบาดาล ซึ่งมีปริมาณเกลือแร่รวม (total dissolved solutes :TDS) ละลายอยู่มาก ทำให้ดอกกุหลาบมีอายุการปักแจกันสั้นลงเมื่อเปรียบเทียบกับการปักแจกันดอกกุหลาบในน้ำกลั่น น้ำดีไอออไนซ์ และน้ำฝน ซึ่งเป็นน้ำที่มีคุณภาพดี มีปริมาณเกลือแร่รวมที่ละลายอยู่น้อย การศึกษาผลกระทบของเกลือแร่บางชนิดที่มีต่ออายุการปักแจกันของดอกกุหลาบโดยการปักแจกันดอกกุหลาบในสารละลาย NaCl, Na2SO4, Na2CO3, CaCl2, CaSO4, MgCl2, MgSO4 และ NaF ระดับความเข้มข้นต่าง ๆ กันโดยใช้ความเข้มข้นของโซเดียมไอออน (Na+) แคลเซ๊ยมไอออน (Ca2+) แมกนีเซียมไอออน (Mg2+) และฟลูออไรด์ไอออน (F-) ซึ่งตรวจพบในน้ำแต่ละชนิดเป็นเกณฑ์ พบว่าสารละลายเกลือแต่ละชนิดมีผลกระทบต่ออายุการปักแจกันของดอกกุหลายไม่เด่นชัดเมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบที่เกิดจากปริมาณเกลือแร่รวม (TDS) โดยเฉพาะที่ระดับความเข้มข้นปกติของเกลือแร่แต่ละชนิดซึ่งตรวจพบในตัวอย่างน้ำชนิดต่าง ๆ พบว่าดอกกุหลาบมีอายุการปักแจกันไม่แตกต่างจาก control (น้ำดีไดออไนซ์) แต่มีแนวโน้มว่าอายุการปักแจกันของดอกกุหลาบสั้นลงเมื่อความเข้มข้นของสารละลายเกลือแต่ละชนิดเพิ่มขึ้น การปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาและน้ำบาดาลด้วยเครื่องทำน้ำดีไอออไนซ์สามารถลดปริมาณเกลือแร่ที่ละลายอยู่ในน้ำทั้งสองชนิดให้น้อยลง ดอกกุหลาบซึ่งปักแจกันในน้ำประปาหรือน้ำบาดาลที่ผ่านเครื่องทำน้ำดีไอออไนซ์มีอายุการปักแจกันใกล้เคียงกับดอกกุหลาบซึ่งปักแจกันในน้ำกลั่นซึ่งเป็นน้ำที่มีคุณภาพดี ระดับ pH ของน้ำที่ใช้ในการปักแจกันไม่ทำให้อายุการปักแจกันของดอกกุหลาบแตกต่างทางสถิติ แต่การปรับ pH ของน้ำที่ใช้ในการปักแจกันให้มีสภาพเป็นกรดโดยใช้กรดซิตริกมีแนวโน้มทำให้ดอกกุหลาบมีอายุการปักแจกันเพิ่มขึ้น ดอกกุหลาบซึ่งปักแจกันในน้ำกลั่น น้ำดีไอออไนซ์ และน้ำฝน มีอายุการปักแจกันเพิ่มขึ้นเมื่อปรับ pH ของน้ำเป็น 4 ในขณะที่ดอกกุหลาบซึ่งปักแจกันในน้ำประปาและน้ำบาดาลมีอายุการปักแจกันเพิ่มขึ้นเมื่อปรับ pH ของน้ำให้มีค่าระหว่าง 5 ถึง 6

การศึกษาผลกระทบของคุณภาพของน้ำที่มีต่อประสิทธิภาพในการยืดอายุการปักแจกันดอกกุหลาบของสารละลายเคมีชนิดต่าง ๆ คือสารละลาย Physan-20 100 ppm + ซูโครส 5% สารละลาย Chrysal (สารเคมียืดอายุการปักแจกันของดอกกล้วยไม้ที่มีจำหน่ายเป็นการค้า) และสารละลายเบนโซเอท 200 ppm + ซูโครส 5% พบว่าคุณภาพของน้ำไม่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการยืดอายุการปักแจกันของสารละลาย Physan-20 100 ppm + ซูโครส 5% แต่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการยืดอายุการปักแจกันของสารละลาย Chrysal และสารละลายเบนโซเอท 200 ppm + ซูโครส 5% การทำพัลชิ่งดอกกุหลาบในสารละลาย Physan-20 100 ppm และ 400 ppm ร่วมกับซูโครส 10% ที่เตรียมด้วยน้ำจากร่องสวนหรือน้ำประปาเป็นเวลา 1 ชั่วโมงที่บริเวณสวน แล้วนำไปปักแจกันในสารละลาย Physan-20 100 ppm + ซูโครส 5% ที่เตรียมด้วยน้ำประปาทำให้ดอกกุหลาบมีอายุการปักแจกันเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด โดยความเข้มข้นของ Physan-20 และชนิดของน้ำที่ใช้เตรียมสารละลายเพื่อทำพัลชิ่งไม่มีผลให้อายุการปักแจกันของดอกกุหลาบแตกต่างกันทางสถิติ ดอกกุหลาบที่ทำพัลชิ่งในสารละลาย Physan-20 200 ppm + ซูโครส 10% ที่เตรียมด้วยน้ำประปาเป็นเวลา 1 ชั่วโมง แล้วนำมาปักแจกันในสารละลาย Physan-20 100 ppm + ซูโครส 5% มีอายุเฉลี่ยในการปักแจกัน 5.75 วัน ในขณะที่ดอกกุหลาบซึ่งภายหลังการตัดดอกนำไปแช่น้ำในร่องสวนจนถึงได้ฐานรองดอกเป็นเวลา 10 นาทีตามวิธีการของชาวสวนแล้วนำมาปักแจกันในน้ำประปา มีอายุเฉลี่ยในการปักแจกันเพียง 3.11 วัน และมีคุณภาพดอกกุหลาบด้อยกว่าดอกกุหลาบที่ผ่านการทำพัลชิ่งและปักแจกันในสารละลาย Physan-20 100 ppm + ซูโครส 5% อย่างเห็นได้ชัด