บทคัดย่องานวิจัย

การวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจการส่งออกไก่เนื้อของประเทศไทย

วิทวัส สาระศาลิน

วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (เศรษฐศาสตร์เกษตร)) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2529. 109 หน้า.

2529

บทคัดย่อ

การวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจการส่งออกไก่เนื้อของประเทศไทย  การเลี้ยงไก่เนื้อในประเทศไทยขยายตัวอย่างรวดเร็วมากตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 เป็นต้นมา ปริมาณการผลิตเพิ่มสูงขึ้นจนกระทั่งสามารถส่งออกไก่เนื้อในรูปของไก่เนื้อแช่เย็นไปจำหน่ายต่างประเทศได้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2516 โดยส่งออกได้ 135 ตัน มูลค่า 5.27 ล้านบาท หลังจากนั้นแนวโน้มการส่งออกไก่เนื้อแช่เย็นได้มีการขยายตัวทั้งในด้านปริมาณและมูลค่าการส่งออกตลอดมา จนถึงปี พ.ศ. 2527 การส่งออกมีปริมาณสูง 34,217 ตัน มูลค่า 1,419.7 ล้านบาท ตลาดที่สำคัญที่สุดของไทย คือ ญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 – 2527 ปรากฏว่า ญี่ปุ่นนำเข้าไก่เนื้อแช่เย็นของไทยกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดของไทย ส่วนตลาดนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ สิงคโปร์, คูเวต, ฮ่องกง และศรีลังกา สำหรับประเทศคู่แข่งขันที่สำคัญของไทยในญี่ปุ่น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐประชาชาจีน โดยที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก และมีส่วนแบ่งตลาดไก่เนื้อแช่เย็นในญี่ปุ่นมากที่สุด ส่วนไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนมีส่วนแบ่งการตลาดไก่เนื้อแช่เย็นเป็นอันดับสองและสามตามลำดับ

วัตถุประสงค์ในการศึกษาเรื่องนี้ ก็คือการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่ออุปสงค์และอุปทานไก่เนื้อเพื่อการส่งออกของไทยในญี่ปุ่น วิเคราะห์ส่วนแบ่งการตลาดเปรียบเทียบของตลาดระดับส่งออกและหาความยืดหยุ่นแห่งการทดแทนในการส่งออกไก่เนื้อของไทยเปรียบเทียบการส่งออกของสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะด้านนโยบายในการขยายการส่งออกไก่เนื้อของไทย

การศึกษานี้ใช้แบบจำลอง สมการถอยพหุคูณ ซึ่งเป็นวิธีการทางสถิติที่นำมาประยุกต์ใช้หาค่าความสัมพันธ์ของตัวแปรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว โดยใช้ข้อมูลแบบอนุกรมเวลา ตั้งแต่ปี 2516 – 2527

ผลการวิเคราะห์อุปสงค์เพื่อการส่งออกไก่เนื้อแช่เย็นของไทยไปยังประเทศญี่ปุ่น ปรากฏว่าราคาส่งออกของไทยและรายได้ประชาชาติของญี่ปุ่น เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดอุปสงค์เพื่อการส่งออก โดยที่ความยืดหยุ่นของอุปสงค์เพื่อการส่งออกเมื่อเทียบกับราคาส่งออกมีค่าเท่ากับ -6.5866 ส่วนผลการวิเคราะห์อุปทานเพื่อการส่งออกไก่เนื้อแช่เย็นของไทยไปยังญี่ปุ่นปรากกว่า ราคาส่งออกราคาอาหารสัตว์ และปริมาณการผลิตไก่เนื้อของไทยเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดอุปทานเพื่อการส่งออก โดยที่ความยืดหยุ่นของอุปทานเพื่อการส่งออกเมื่อเปรียบเทียบราคาส่งออกมีค่าเท่ากับ 1.1359 ดังนั้น นโยบายทางด้านราคาควรใช้นโยบายลดราคาไก่เนื้อแช่เย็นลง จะทำให้ปริมาณการส่งออกไก่เนื้อเป็นแช่เย็นเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่า ซึ่งจะมีผลทำให้รายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้น

ผลการวิเคราะห์ส่วนแบ่งการตลาดไก่เนื้อแช่แข็งเย็นของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาในญี่ปุ่น พบว่าปัจจัยที่สำคัญในการกำหนดส่วนแบ่งการตลาดดังกล่าว ได้แก่ อัตราส่วนของราคาส่งออกไก่เนื้อแช่แข็งเย็นของไทยกับสหรัฐอเมริกาในญี่ปุ่น โดยค่าความยืดหยุ่นแห่งการทดแทนการส่งออกเทียบกับอัตราส่วนราคาส่งออก มีค่าเท่ากับ -2.6971 ส่วน ปัจจัยที่มีความสำคัญรองลงมา ได้แก่ อัตราการพึ่งพาการนำเข้าไก่เนื้อแช่เย็นของญี่ปุ่นซึ่งความยืดหยุ่นของปัจจัยดังกล่าวมีค่าเท่ากับ 1.4705 สำหรับปัจจัยทางด้านอัตราส่วนของอุปทานไก่เนื้อแช่เย็นเพื่อการส่งออก และอัตราส่วนการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น อาจกล่าวได้ว่ามีผลกระทบน้อย โดยความยืดหยุ่นของปัจจัยดังกล่าว มีค่าเท่ากับ 0.001 และ -0.8067 ตามลำดับ

ผลการวิเคราะห์ส่วนแบ่งการตลาดไก่เนื้อแช่แข้งเย็นของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในญี่ปุ่น พบว่า ปัจจัยสำคัญในการกำหนดส่วนแบ่งการตลาดดังกล่าว ได้แก่ อัตราส่วนของอุปทานไก่เนื้อแช่เย็นเพื่อการส่งออกระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยค่าความยืดหยุ่นแห่งการทดแทนในการส่งออก เทียบกับอัตราส่วนอุปทานเพื่อการส่งออก มีค่าเท่ากับ 0.6986 สำหรับปัจจัยที่มีความสำคัญรองลงมา ได้แก่ อัตราการพึ่งพาการนำเข้าไก่เนื้อแช่แข็งเย็นของญี่ปุ่น ซึ่งความยืดหยุ่นของปัจจัยดังกล่าวมีค่าเท่ากับ0.5487 ส่วนปัจจัยอัตราส่วนราคาส่งออกและอัตราส่วนการนำสินค้าเข้าจากญี่ปุ่น อาจกล่าวได้ว่ามีผลกระทบน้อยมาก โดยค่าความยืดหยุ่นของปัจจัยดังกล่าว มีค่าเท่ากับ 0.0597 และ -0.0965 ตามลำดับ

จากการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ถ้าประเทศไทยจะขยายการส่งออกและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดไก่เนื้อแช่แข็งเย็นในญี่ปุ่นแล้ว สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ไทยควรจะให้ความสำคัญในแง่ของการแข่งขันด้านราคามากที่สุด โดยที่ถ้าไทยสามารถลดลั่นส่วนของราคาส่งออกลงจะทำให้ไก่เนื้อแช่เย็นของไทยสามารถทดแทนการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาได้มาก ส่วนในแง่การแข่งขันด้านปริมาณอุปทานส่งออกไก่เนื้อแช่เย็น ไทยควรจะให้ความสำคัญในด้านนี้สาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะถ้าหากไทยสามารถเพิ่มอัตราส่วนของอุปทานการส่งออก จะทำให้ไก่เนื้อแช่เย็นของไทยสามารถทดแทนการนำเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับนโยบายทางด้านดุลการค้าและการพึ่งพาการนำเข้าของญี่ปุ่นนั้น ผลกระทบดังกล่าวขึ้นอยู่กับนโยบายการผลิตและการนำเข้าของญี่ปุ่นเป็นสำคัญ