บทคัดย่องานวิจัย

การวิเคราะห์อุปทานและอุปสงค์ไก่เนื้อของประเทศไทย

ศรายุทธ เอี่ยมไพโรจน์

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์เกษตร) สาขาเศรษฐศาสตร์เกษตร ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 120 หน้า.

2542

บทคัดย่อ

การวิเคราะห์อุปทานและอุปสงค์ไก่เนื้อของประเทศไทย  ในบรรดาผลผลิตเกษตรของประเทศไทยทั้งหมด ไก่เนื้อเป็นผลิตผลเกษตรกรรม สาขาปศุสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยและมูลค่าการส่งออก ไก่เนื้อยังอยู่ใน 10 อันดับแรกของการส่งออกผลิตผลเกษตรกรรมและผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2526 เป็นต้นมา ซึ่งทำรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้ประเทศไทยโดยมีมูลค่าการส่งออกไก่เนื้อเฉลี่ยหกพันห้าร้อยล้านบาทบาทต่อปี นอกจากนี้ไก่ยังอยู่ในกลุ่มสินค้าเป้าหมายที่ได้รับการสนับสนุนให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าเป้าหมายที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นและมีลู่ทางการขยายตลาดไก่เนื้อได้มาก

วัตถุประสงค์ของการศึกษาคือ เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปของการผลิต การตลาด และการส่งออกไก่เนื้อของประเทศไทย เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออุปทานและอุปสงค์ไก่เนื้อของประเทศไทย รวมทั้งปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออุปสงค์เพื่อการส่งออกไก่เนื้อของประเทศไทย เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างราคาขายไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรผู้เลี้ยงได้รับและราคาขายปลีกไก่เนื้อชำแหละ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างราคาขายปลีกไก่เนื้อชำแหละและราคาส่งออกไก่เนื้อของประเทศไทย

ผลของการศึกษาพบว่า ค่าความยืดหยุ่นของอุปทานไก่เนื้อของประเทศไทยที่มีต่อราคาขายไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรผู้เลี้ยงได้รับ ราคาลูกไก่เนื้อ และราคาอาหารสำเร็จรูปไก่เนื้อมีค่าเท่ากับ 1.077ม -0.380 และ-1.634 ตามลำดับ ค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ไก่เนื้อของประเทศไทยที่มีต่อราคาขายปลีกไก่เนื้อชำแหละราคาขายปลีกเนื้อแดงสุกรชำแหละและรายได้ประชาชาติต่อหัวคนมีค่าเท่ากับ -1.205, 0.750 และ 0.544 ตามลำดับ ค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์เพื่อการส่งออกไก่เนื้อของประเทศไทยที่มีต่ออัตราส่วนราคาส่งออกไก่เนื้อเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยต่อจีนมีค่าเท่ากับ -4.928 ราคาขายไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรผู้เลี้ยงได้รับและราคาขายปลีกไก่เนื้อชำแหละมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันมีค่าสัมประสิทธิ์เท่ากับ 0.516รวมทั้งราคาขายปลีกไก่เนื้อชำแหละและราคาส่งออกไก่เนื้อของประเทศไทยก็มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันมีค่าเท่ากับสัมประสิทธิ์เท่ากับ 1.131 โดยมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 99