บทคัดย่องานวิจัย

ผลกระทบการปฏิรูปนโยบายเกษตรร่วมต่อปริมาณการส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งของไทยไปสหภาพยุโรป

วรางคณา เสียงใหญ่

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์เกษตร) สาขาเศรษฐศษสตร์เกษตร ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 114 หน้า.

2540

บทคัดย่อ

ผลกระทบการปฏิรูปนโยบายเกษตรร่วมต่อปริมาณการส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งของไทยไปสหภาพยุโรป  สหภาพยุโรปเป็นผู้นำเข้าเนื้อไก้แช่แข็งของไทยที่มีความสำคัญเป็นลำดับที่สอง รองจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อมีการปฏิรูปนโยบายเกษตรร่วมเกิดขึ้นในสหภาพยุโรป ย่อมส่งผลกระทบมาสู่การส่งออกเนื้อไก่แช่แข็งของไทยได้

วัตถุประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้ คือ ศึกษานโยบายเกษตรร่วมของธัญพืชและเนื้อสัตว์ปีกทั้งก่อนและหลังการปฏิรูป รวมทั้งศึกษาผลกระทบของการปฏิรูปนโยบายเกษตรร่วมจากการลดราคาธัญพืชต่อปริมาณนำเข้าเนื้อไก่จากประเทศไทย

จากการศึกษา พบว่า เมื่อมีปัญหาด้านงบประมาณและปัญหาอื่นๆ จึงต้องมีการปฏิรูปนโยบายเกษตรร่วมขึ้นในปี ค.ศ. 1992 เพื่อปรับลดราคาธัญพืชลง โดยยอมจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นและควบคุมปริมาณการผลิต ทำให้ปริมาณและราคาข้าวโพดในประเทศเยอรมนีลดลง เนื่องจากธัญพืชโดยเฉพาะข้าวโพดและข้าวบาร์เล่ย์เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์สำหรับการผลิตเนื้อสัตว์ปีกในประเทศเยอรมัน จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านเศรษฐมิติ พบว่า ราคาข้าวโพดที่ปรับลดลงร้อยละ 1 ทำให้ราคาเนื้อสัตว์ปีกลดลงร้อยละ 0.28 ในขณะเดียวกัน เมื่อราคาเนื้อสัตว์ปีกลดลงร้อยละ 1 ทำให้ อัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ปีกต่อหัวของชาวเยอรมัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.13 เมื่อสภาวะการบริโภคเนื้อสัตว์ปีกเปลี่ยนแปลง โดยอัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ปีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ทำให้ปริมาณการนำเข้าเนื้อไก่จากประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.11 ดังนั้น การปรับลดราคาข้าวโพดลงร้อยละ 1 จึงทำให้ปริมาณการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8