บทคัดย่องานวิจัย

ผลกระทบของนโยบายเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษการนำเข้าข้าวโพดต่อตลาดเมล็ดข้าวโพด ตลาดเนื้อไก่ ตลาดเนื้อสุกร และตลาดไก่ไข่

นิรันดร อ่วมทิพย์

วิทยานิพนธ์ (เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์)), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541. 141 หน้า.

2541

บทคัดย่อ

ผลกระทบของนโยบายเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษการนำเข้าข้าวโพดต่อตลาดเมล็ดข้าวโพด ตลาดเนื้อไก่ ตลาดเนื้อสุกร และตลาดไก่ไข่

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลกระทบของนโยบายเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ การนำเข้าข้าวโพด ที่มีต่อตลาดต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับข้าวโพด ซึ่งได้แก่ ตลาดเนื้อไก่ ตลาดเนื้อสุกร ตลาดเนื้อไข่ไก่ และตลาดเมล็ดข้าวโพด โดยใช้แบบจำลองหลายตลาด (multiple model) ในการวิเคราะห์ในการศึกษานี้จะใช้วิธีการพรรณาเพื่ออธิบายโครงสร้างความสัมพันธ์ภายในตลาดและความสัมพันธ์ระหว่างตลาดต่างๆ ร่วมกับวิธีการเชิงปริมาณในการสร้างแบบจำลองเศรษฐมิติของตลาดที่เกี่ยวข้อง ผลการจำลองค่าโดยกำหนดให้อัตราค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้าข้าวโพดเปลี่ยนแปลงไปในระดับต่างๆ เพื่อหาความสัมพันธ์ของตัวแปรภายในที่ปรากฏในแบบจำลองกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษ พบว่า ปริมาณการนำเข้าข้าวโพดมีค่าความยืดหยุ่นต่ออัตราค่าธรรมเนียมพิเศษมากที่สุดคือมีค่าเท่ากับ –0.353 ในขณะที่ปริมาณการผลิตข้าวโพดมีความยืดหยุ่นต่ออัตราค่าธรรมเนียมพิเศษเท่ากับ 0.037 ส่วนปริมาณการบริโภคข้าวโพดมีค่าความยืดหยุ่นต่ออัตราค่าธรรมเนียม เท่ากับ –0.004 และราคาขายส่งข้าวโพดที่แท้จริงในตลาด กรุงเทพฯ มีค่าความยืดหยุ่นต่ออัตราค่าธรรมเนียมพิเศษเท่ากับ 0.090 ผลกระทบของอัตราค่าธรรมเนียมเท่ากับ –0.004 และ ปริมาณการส่งออกเนื้อไก่มีค่าความยืดหยุ่นต่ออัตราค่าธรรมเนียมเท่ากับ –0.114 ส่วนในตลาดเนื้อสุกรและตลาดไก่ไข่ ซึ่งเป็นตลาดที่ปิดนั่นก็คือไม่มีการค้าขายระหว่างประเทศ ในตลาดทั้งสองนี้พบว่าในตลาดเนื้อสุกรปริมาณการผลิตและการบริโภคเนื้อสุกรมีค่าความยืดหยุ่นต่ออัตราค่าธรรมเนียมพิเศษเท่ากันคือ มีค่าเท่ากับ –0.011 โดยที่ราคาขายส่งสุกร มีชีวิตที่แท้จริงในตลาดกรุงเทพฯมีค่าความยืดหยุ่นต่ออัตราค่าธรรมเนียมพิเศษเท่ากับ 0.043 ส่วนในตลาดไก่ไข่ปริมาณการผลิตและการบริโภคไข่ไก่มีค่าความยืดหยุ่นต่ออัตราค่าธรรมเนียมพิเศษเท่ากับ –0.005 โดยที่ราคาขายส่งไข่ไก่ที่แท้จริงในตลาดกรุงเทพฯมีค่าความยืดหยุ่นต่ออัตราค่าธรรมเนียมพิเศษเท่ากับ 0.007 ผลการศึกษา พบว่า หากรัฐบาลเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษเพียงร้อยละ 1 หรือเท่ากับ 2.466 บาทต่อตันแล้วจะมีผลทำให้ผู้ผลิตที่อยู่ในตลาดทั้ง 4 มีรายรับรวมเพิ่มขึ้น ประมาณ 12.546 ล้านบาทแต่จะทำให้ผู้บริโภคมีรายจ่ายเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้นถึง 15.129 ล้านบาท ดังนั้นการเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษจึงก่อให้เกิดผลกระทบสุทธิเป็นลบต่อตลาด ทั้ง 4 มีค่าเท่ากับ 2.583 ล้านบาท ซึ่งผลกระทบสุทธิที่เป็นลบนี้ส่วนหนึ่งจะเป็นรายรับของรัฐบาลที่ได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษที่ได้รับเพิ่มขึ้น 0.125ล้านบาทและอีกส่วนหนึ่งเป็นรายได้จากต่างประเทศสุทธิที่ลดลงเนื่องจากการส่งออกเนื้อไก่ลดลงเท่ากับ 2.458 ล้านบาท ผลจากการศึกษาดังกล่าวสามารถสรุปเป็นข้อสังเกตทางนโยบายได้ว่า เนื่องจากนโยบายการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษการนำเข้าข้าวโพด จะก่อให้เกิดผลดีต่อผู้ผลิตข้าวโพดภายใน ประเทศเท่านั้นแต่ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ผลิตเนื้อสัตว์ ผู้บริโภคเนื้อ สัตว์และผู้ส่งออกเนื้อสัตว์มากกว่า นั่นก็คือทำให้ต้นทุนในการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการที่จะช่วยเหลือทั้งเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด เกษตรกรผู้ผลิตเนื้อสัตว์ ผู้บริโภคเนื้อสัตว์และผู้ส่งออกเนื้อสัตว์แล้วรัฐบาลจะต้องพยายามเพิ่มปริมาณการผลิตข้าวโพดที่มีคุณภาพโดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และในขณะเดียวกันก็พยายามลดต้นทุนในการผลิตเพื่อให้ราคาข้าวโพดภายในประเทศสามารถแข่งขันกับราคาข้าวโพดจากต่างประเทศได้