บทคัดย่องานวิจัย

การวิเคราะห์พฤติกรรมทางการตลาดและผลกระทบจากการทำกิจกรรมการตลาดที่มีต่อระดับรายได้ของเกษตรกรรายย่อย : กรณีผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ

กุศล ทองงาม

รายงานการวิจัย ศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541. 65 หน้า

2541

บทคัดย่อ

การวิเคราะห์พฤติกรรมทางการตลาดและผลกระทบจากการทำกิจกรรมการตลาดที่มีต่อระดับรายได้ของเกษตรกรรายย่อย การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อศึกษาถึงพฤติกรรมด้านการตลาดของเกษตรกร โดยศึกษาถึงการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการตลาด ความแตกต่างของโอกาสในการได้รับข่าวสารและความสนใจในข่าวสารการตลาดของเกษตรกร ตลอดจนวิเคราะห์ความแตกต่างของรายได้อันเนื่องมาจากการทำกิจกรรมการตลาดบางประการ โดยใช้แบบสอบถามสัมภาษณ์เกษตรกรตัวอย่างผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ ในพื้นที่อำเภอสันกำแพงซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ใกล้ตัวเมือง จำนวน 54 ตัวอย่าง และเกษตรกรจากอำเภอพร้าวซึ่งอยู่ใกล้ตัวเมือง จำนวน 66 ตัวอย่าง ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่จะขายผลผลิตที่ได้หมดทันทีหลังการเก็บเกี่ยว เนื่องจากความต้องการใช้เงินเป็นสำคัญ โดยจะขายให้กับพ่อค้าคนกลางระดับท้องถิ่นที่มารับซื้อถึงแหล่งผลิตมากที่สุด สำหรับการคัดเกรดผลผลิตพบว่ามีน้อยมาก ยกเว้นพืชที่ผลิตตามข้อผูกพันจึงจะมีการคัดเกรด เช่นเดียวกับการเก็บผลผลิตอื่นๆ ที่มิใช่ข้าวไว้รอราคา พบว่ามีเพียงผู้ปลูกถั่วเหลืองและผู้ปลูกกระเทียมบางรายเท่านั้นที่เคยเก็บผลผลิตไว้รอราคา เกษตรกรทั้ง 2 พื้นที่มีโอกาสได้รับข่าวสารทั้งด้านการเกษตรทั่วไปและด้านการตลาดจากสื่อต่างๆ เท่าเทียมกัน แต่ส่วนใหญ่ยังให้ความสนใจน้อย แหล่งข่าวสารการตลาดที่สำคัญคือ จากเพื่อนเกษตรกรด้วยกันมากเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นการได้รับข่าวสารจากพ่อค้า เกษตรทั้ง 2 พื้นที่ต้องการได้รับข่าวสารเกี่ยวกับการผลิตทั่วไปและด้านการตลาดในสัดส่วนที่ใกล้ เคียงกัน โดยเกษตรกรในอำเภอสันกำแพงอยากได้รับผ่านหอกระจายข่าวในหมู่บ้านมากที่สุด ส่วนเกษตรกรในอำเภอพร้าวอยากได้รับผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์มากที่สุด ผลการวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ โดยใช้ข้อมูลระดับฟาร์มเป็นรายเดือน จำนวน 20 ปี ด้วยวิธีอัตราส่วนค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ พบว่า ช่วงดัชนีราคาค่อนข้างต่ำจนถึงต่ำสุด จะอยู่ประมาณเดือนธันวาคม-มกราคม ซึ่งเกษตรกรตัวอย่างกว่าร้อยละ 50 ขายผลผลิตในเดือนนี้และเมื่อดูโดยรวมพบว่า มีเกษตรกรตัวอย่างประมาณร้อยละ 13.8 เท่านั้นที่ขายผลผลิตข้าวในช่วงที่ดัชนีราคามากกว่าค่าเฉลี่ย ที่เหลือร้อยละ 86.2 จะขายผลผลิตไปในช่วงที่ดัชนีราคาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและเมื่อดูการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาพบว่า ถ้าเกษตรกรเก็บผลผลิตตั้งแต่เดือนธันวาคมซึ่งเป็นช่วงการเก็บเกี่ยว แล้วไปขายเดือนกรกฎาคม เกษตรกรจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือนสูงที่สุด คือ ร้อยละ 1.98 หรือกรณีต้องการซื้อผลผลิตมาเก็บรักษาเพื่อรอเก็งกำไร ถ้าซื้อผลผลิตมาเก็บตั้งแต่เดือนมกราคม ซึ่งเป็นเดือนที่ดัชนีราคาต่ำที่สุด แล้วไปขายในเดือนกรกฎาคมเช่นกันจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือน ร้อยละ 2.34 และจากตัวอย่างที่ศึกษา พบว่ามีเพียง 3 รายเท่านั้นที่ขายผลผลิตในเดือนนี้ ส่วนการวิเคราะห์การขายข้าวหอมมะลิของเกษตรกรพบว่า ปีการผลิต 2539/40 ที่มีต่อระดับรายได้โดยวิธีงบประมาณบางส่วน พบว่าเกษตรกรในอำเภอพร้าวจะได้สวนเพิ่มจากการนำผลผลิตไปขายเองยังแหล่งรับซื้อเมื่อเทียบกับการขายที่ฟาร์ม เท่ากับ -0.01 บาท/กิโลกรัม หรือขาดทุนสุทธิประมาณ 50 บาท/ครัวเรือน ส่วนเกษตรกรในอำเภอสันกำแพงจะได้ส่วนเพิ่มจากการนำผลผลิตไปขายเองยังแหล่งรับซื้อ เท่ากับ 0.17 บาท/กิโลกรัม หรือเฉลี่ยประมาณ 109 บาท/ครัวเรือน ในขณะที่การเก็บผลผลิตไว้รอราคาจะทำให้เกษตรกรมในอำเภอพร้าวและอำเภอสันกำแพงมีรายได้เพิ่มขึ้น 1.24 และ 1.08 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ หรือเฉลี่ยประมาณ 8,000 บาท/ครัวเรือน ในทั้ง 2 พื้นที่ โดยมีระยะเวลาในการเก็บรักษาประมาณ 5 เดือน หรือเฉลี่ยประมาณเดือนละ 1,600 บาท